“Writers make national literature, while translators make universal literature.”
ฌูเซ่ ซารามากู เจ้าของรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรมประจำปี 1998 คือนักเขียนชาวตะวันตกที่ได้รับการยอมรับจากทั้งชาวโปรตุเกส และนานาชาติ ในช่วงชีวิตนักประพันธ์ของซารามากู ผู้ติดตามข่าวคราววงการหนังสือและวรรณกรรมโลกจึงได้เห็นข่าวคราวความเคลื่อนไหวของเขาไม่ขาดระยะ ไม่ว่าจะเป็นงานเสวนาวิชาการ ประชุมนานาชาติ งานเปิดตัวหนังสือ งานฉายภาพยนตร์จากวรรณกรรมรอบพรีเมียร์ งานมอบลายเซ็น หรือแม้แต่งานอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับวรรณกรรม แต่มีส่วนส่งเสริมมนุษยธรรม สิทธิมนุษยชน และเผยแพร่วัฒนธรรมโปรตุเกสไปสู่ชาติอื่นๆ
หากงานเปิดตัววรรณกรรมแปล ‘บอด’ ซึ่งแปลจาก Ensaio sobre a Cegueira มีซารามากูร่วมอยู่ด้วย เราคิดว่าอาณาบริเวณกว้างขวางของสถานเอกอัครราชทูตโปรตุเกสประจำประเทศไทย ซึ่งตั้งอยู่ที่ถนนเจริญกรุง ซอย 30 คงไม่เพียงพอ
งานเสวนายามเย็นของวันพฤหัสบดี ที่ 14 พฤศจิกายน ’62 ที่ผ่านมา คือการรวมตัวกันอย่างอุ่นหนาฝาคั่งของคนรักการอ่าน รักวรรณกรรม เริ่มที่การเสวนาว่าด้วยชีวิตและผลงานของซารามากู ต่อด้วยประสบการณ์การอ่านของนักวิชาการ นักเขียนมือรางวัลของไทย และบรรณาธิการผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการหนังสือมายาวนาน ที่ช่วยกันแยกประเด็นในเรื่องเล่าเล่มนี้ออกมาได้ดังนี้
ความสากลของบอด
ประโลม บุญรัศมี อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาโปรตุเกส คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงเนื้อหาของ ‘บอด’ ว่ามีประเด็นที่แสดงถึงลักษณะสากลอยู่ 4 เรื่องคือ ศาสนา การเมือง ประวัติศาสตร์ และสตรี โดยเฉพาะประเด็นหลังนี้จะเห็นได้ชัดเจนจากการใช้สตรีเป็นตัวละครหลักสำคัญที่พาให้ตัวละครชายในเรื่องเติบโตทั้งในด้านอารมณ์ความรู้สึก และส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่สิ่งที่ดี
เรื่องเล่าของบอดยังมีเสน่ห์ในด้านภาพที่เกิดขึ้นขณะอ่าน “กลิ่นต่างๆ ภาพเมืองที่โสมม ความเป็นมนุษย์ที่ถูกอะไรบีบคั้นจนแทบจะกลายเป็นสัตว์... ทำให้รู้สึกว่ามันเกิดขึ้นที่ไหนก็ได้กับทุกสังคม ทั้งที่ซารามากูก็ไม่ได้บอกว่าเกิดขึ้นที่ไหน ตัวละครก็ไม่มีชื่อ และมันจะเกิดขึ้นกับใครก็ได้ สุดท้ายมันก็คือบทเรียนที่มนุษย์ควรเอามาพิจารณา"
นิยายที่ไม่มีชื่อตัวละคร
กิตติพล สรัคคานนท์ บรรณาธิการ นักแปล และนักเขียน เล่าถึงประสบการณ์ที่เคยได้อ่านวรรณกรรมของซารามากูว่า เป็นงานเขียนที่สร้างแรงบันดาลใจถึงกลวิธีการเล่านวนิยายที่ไม่ยึดโยงกับชื่อของตัวละคร
“ถ้าถามผมว่าอะไรคือคุณลักษณะสำคัญของเล่มนี้ นั่นก็คือการตั้งคำถามว่า ทำไมต้องมีชื่อ (ตัวละคร) ด้วยล่ะในภาวการณ์แบบนี้ แล้วชื่อจะมีความสำคัญอะไร ถ้าคุณจะถูกเรียกผ่านบุคลิกแบบนี้ แล้วเขาก็สามารถทำได้ตั้งแต่ต้นจนจบ คือทั้งเรื่องไม่มีชื่อตัวละคร”
“สิ่งที่ผมเห็นในเล่มนี้คือรายละเอียด ตัวละครทั้งหมดที่เขาสร้างขึ้นมันน่าสนใจมากเลย พูดถึงกลุ่มชีวิตในภาพกว้างๆ โดยที่ไม่รู้ว่าพวกเขาคือใคร แต่พอพูดขึ้นมา ตัวละครเหล่านี้กลับมีเสียง มีความเจ็บปวด มีความตายเกิดขึ้น และนี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้งานต่อๆ มาของซารามากูมีความ individual มากขึ้น โฟกัสไปที่คน และลงรายละเอียดเล็กๆ เหล่านี้มากขึ้น”
ความปกติในอาการตาบอดสีขาว
วีรพร นิติประภา นักเขียนรางวัลซีไรต์ประจำปี 2015 และ 2018 ตั้งคำถามถึงอาการตาบอดสีขาวในเรื่องว่า ตอนแรกคิดว่าน่าจะมีความหมายในเชิงบวก ที่ไม่เห็นทุกอย่างเป็นสีดำ แต่เมื่ออ่านต่อไป ได้เผชิญหน้ากับความจริงที่ซ่อนอยู่ในสีขาวอีกที ผ่านตัวละครที่ต้องเจอกับเหตุการณ์เลวร้าย ตลอดจนเหตุการณ์ที่ท้าทายศีลธรรม
"อะไรคือความปกติ เพราะในที่สุดทุกคนที่ตาบอดกลับกลายเป็นคนปกติ แต่คนที่มองเห็นกลับเป็นคนไม่ปกติ ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่าอะไรคือ norm หรือสุดท้ายแล้วใครเป็นคนที่บาดเจ็บที่สุดจากเรื่องนี้”
นี่เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งในวงเสวนาหนึ่งชั่วโมงเต็ม นอกเหนือไปจากมุมมองต่อเรื่องอัจฉริยภาพด้านการผูกปมเรื่อง โครงสร้างและรูปแบบทางภาษา การแปลที่ต้องเคารพต้นฉบับเพื่อคงไว้ซึ่งกลิ่นอายของวัฒนธรรมภาษาต้น คุณูปการของซารามากูในการส่งสารไปถึงนักอ่านทุกมุมโลกผ่านการแปล ฯลฯ
แน่นอนว่าหนึ่งชั่วโมงของการพูดคุยนับว่าน้อยไม่หนำใจ งานเขียนแบบซารามากูผู้ยิ่งใหญ่ ยังเปิดให้ทุกคนเดินทางลงลึกค้นหาต่อไป --- เดินทางไปข้างหน้าเพื่อค้นหาความหมายใหม่ๆ และย้อนกลับไปเพื่อทบทวนอดีตร่วมกัน --- ดังที่เบญจรัศมี รุจน์รวีหิรัญ ผู้ดำเนินรายการ กล่าวว่าหากมองย้อนไปถึงประวัติศาสตร์ชาติไทย ภาษาโปรตุเกสเคยมีความสำคัญมากต่อสยามเมื่อครั้งที่มีการทำสนธิสัญญาระหว่างกัน การอ่านผลงานของซารามากู โดยเฉพาะผ่านการแปลเช่น ‘บอด’ เล่มนี้ จึงเหมือนปลุกความสำคัญของภาษาโปรตุเกสขึ้นมาในไทยอีกครั้ง และยังเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ของสองชาติให้แน่นแฟ้นผ่านศิลปการเล่าเรื่องที่เราเรียกว่าวรรณคดี
---
ทีมงานสำนักพิมพ์ไลบรารี่ เฮ้าส์ขอขอบคุณ ฯพณฯ ฟรานซิสโก วาซ แพตโต สถานเอกอัครราชทูตโปรตุเกส ประจำประเทศไทย ศูนย์วัฒนธรรมโปรตุเกส วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้ดำเนินรายการ และแขกผู้มีเกียรติทุกท่านสำหรับความร่วมมืออันดียิ่งและการสนับสนุนการจัดพิมพ์ 'บอด' ในครั้งนี้
งานเปิดตัวหนังสือวรรณกรรมแปลจากภาษาเยอรมันเรื่อง ในโลกอันแปรปรวนบันทึกของนักเขียนไบโพลาร์ ของโทมัส เมลเล
ซึ่งเขียนจากส่วนหนึ่งของชีวิตจริงผู้แต่ง ว่าด้วยเรื่องราวของผู้ป่วยโรคไบพาร์กับการใช้ชีวิตท่ามกลางความผันผวนภายใน เกิดบาดแผลร่อยรอยในใจที่แทบไม่มีใครมองเห็น นอกจากวรรณกรรมเล่มนี้จะทำให้เมลเลเป็นนักเขียนเยอรมันร่วมสมัยที่น่าจับตา ยังได้รับเลือกให้เป็นหนังสือในโครงการ The Merck Social Translating Project (ริเริ่มโดยสถาบันเกอเธ่ เกาหลี และได้รับทุนสนับสนุนจากบริษัท Merck) ซึ่งเป็นโครงการแปลวรรณกรรมเรื่องเดียวกันไปเป็นภาษาต่างๆ สิบภาษาในประเทศเอเชีย และไลบรารี่ เฮ้าส์คือสำนักพิมพ์ไทยที่ได้รับเกียรติร่วมโครงการนี้
งานเปิดตัวหนังสือจัดขึ้นเมื่อช่วงค่ำของวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 ณ Whiteline ถนนสีลม ซอย 8 โดยความร่วมมือระหว่างสำนักพิมพ์ไลบรารี่ เฮ้าส์, สถาบันเกอเธ่ กรุงเทพ, เจแปน ฟาวด์เดชั่น และ Documentary Club บรรยากาศเสวนาเป็นไปอย่างอบอุ่นผ่านการบอกเล่าแลกเปลี่ยนประสบการณ์ชีวิตอันแสนหมุนเหวี่ยงและเคยต้องเยียวยาของวิทยากรทั้ง 3 ท่านคือ คุณดุจดาว วัฒนปกรณ์, คุณอุทิศ เหมะมูล และคุณอินทิรา เจริญปุระ โดยมีคุณกตัญญู สว่างศรี เป็นผู้ดำเนินรายการ
นอกเวทีเสวนา เราบริการเครื่องดื่มที่ชวนให้หลุดไปอยู่บนขอบโลกแบบไม่มีใครเข้าถึง และปิดค่ำคืนด้วยการฉาย Kasama Infinity หรือ คุณป้าลายจุด ภาพยนตร์เกี่ยวกับยาโยอิ คุซามะ (Yayoi Kusama) ศิลปินแนว avant-garde เจ้าของเส้นทางชีวิตล้มลุกคลุกคลานแต่สามารถสร้างสีสันได้ระดับโลก
Istanbul Fellowship Program คือกิจกรรมในแวดวงธุรกิจหนังสือนานาชาติ จัดเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2016 โดย Turkish Press and Publishers Copyright & Licensing Society (TBYM) ซึ่งเป็นองค์กรผู้จัดพิมพ์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศตุรกี โดยความร่วมมือจากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในประเทศตุรกี เช่น กระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว สมาคมหอการค้า ฯลฯ โปรแกรมนี้มีจุดประสงค์พัฒนาอิสตันบูลให้เป็นตลาดการค้าหนังสือและเป็นประตูสู่โลกธุรกิจลิขสิทธิ์หนังสือและวรรณกรรมอีกแห่งหนึ่ง
สำหรับงานในปี 2019 ถือเป็นครั้งที่ 4 และเป็นครั้งแรกที่มีสำนักพิมพ์ไทยเข้าร่วมงานและยังได้รับทุนสนับสนุนเต็มจำนวนนั่นคือ สำนักพิมพ์ ไลบรารี่ เฮ้าส์ ซึ่งได้เข้าร่วมโปรแกรมนี้ระหว่างวันที่ 26-28 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมา และกลับมาพร้อมกับข่าวสารข้อมูลน่าสนใจ เป็นประโยชน์ต่อการผลิตวรรณกรรมแปลและกิจกรรมเชิงวัฒนธรรมต่อไปในอนาคต
สำนักพิมพ์ ไลบรารี่ เฮ้าส์ขอขอบคุณผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดงานทุกฝ่ายของ Istanbul Fellowship Program รวมทั้งสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ แห่งประเทศไทยและสำนักหอสมุดแห่งชาติที่เอื้อเฟื้อข้อมูลเชิงสถิติสำหรับการประชุมในครั้งนี้ด้วย
_________________________________________
Photo credit: Fellowship Istanbul, Library House.
สำนักพิมพ์ Library House และสำนักพิมพ์ Bookmoby Press (สำนักพิมพ์ในการดูแล) ร่วมออกบูทโชว์ไอเดียสำนักพิมพ์ หรือ Show Case ในงาน LIT Fest เทศกาลหนังสือสุดสนุก ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-20 มกราคม 2562 ที่มิวเซียมสยาม โดยนำเสนอประสบการณ์การเดินทางจริงและผ่านเส้นทางวรรณกรรม กับ The Memoirs of L. เปิดกรุของของรักของสะสมทางวรรณกรรมของไลบรารี่ เฮ้าส์ สำนักพิมพ์ที่มุ่งผลิตวรรณกรรมแปลจากโลกฝั่งตะวันตก การเดินทาง ความทรงจำบนแผ่นกระดาษจากพิพิธภัณฑ์และบ้านนักเขียน, Translator Station พบปะพูดคุยกับนักแปลผู้ร่วมงานกับสำนักพิมพ์บุ๊คโมบี้ เพรส 3 ท่าน, Your Lifeterary in 2562 สนุกกับการทำนายชะตาชีวิตปี 2562 ด้วยไพ่ทาโรต์วรรณกรรมฉบับ Library House & Bookmoby Press
นอกจาก Showcase และกิจกรรมแล้ว ในบูธยังมี Books and Bags ช้อปปิ้งหนังสือจากทั้งสองสำนักพิมพ์และกระเป๋าผ้าหลากหลายแบบ พร้อมโปรโมชั่นพิเศษ New Books with Mini-Tote ซื้อหนังสือ 2 เล่มใหม่จากชุด The 19th C. Story ของไลบรารี่ เฮ้าส์ รับกระเป๋าผ้าใบย่อมฟรี 1 ใบ และรับโชคต่อเมื่อซื้อหนังสือในบูธครบ 500 บาท ลุ้นจับรางวัล Lucky Draw คูปองส่วนลด 15-25% สำหรับใช้ซื้อหนังสือกับร้านหนังสือออนไลน์ Readery วันละ 100 รางวัล
ตลอดระยะเวลา 3 วัน Library House และ Bookmoby Press ได้พบกับนักอ่านที่น่ารักมากมาย ทั้งแฟนนักอ่านที่ติดตามผลงานของทั้ง 2 สำนักพิมพ์มาโดยตลอดและนักอ่านหน้าใหม่ที่สนใจออกเดินทางบนหน้ากระดาษกับเรา สร้างรอยยิ้ม กำลังใจ และสร้างแรงบันดาลใจให้ลุกพรึ่บ ภายใต้บรรยากาศงานเทศกาลหนังสือ ดนตรี ศิลปะ ในสวนกลางแจ้ง ที่สนุกสนาน คึกคัก และเป็นกันเอง นอกจาก Show Case ของสำนักพิมพ์ต่างๆ ในงานยังอัดแน่นไปด้วยกิจกรรมสนุกๆ มากมาย เช่น Talk เสวนาปลุกไปหาแรงบันดาลใจจากวรรณกรรมและการอ่าน, Book club ล้อมวงคุยหนังสือ, Art & Craft สนุกกับศิลปะจากหนังสือ, Meet the Writers กระทบไหล่นั่งคุยกับนักเขียน พร้อมด้วยดนตรีสดและละครเวที การฉายหนัง และโซนเด็กที่ได้แรงบันดาลใจจากหนังสือ และอื่นๆ อีกมากมาย
_________________________________________
Photo Credit: รูปบางส่วนจากร้านหนังสือ Readery