Reflections in a Golden Eye
คาร์สัน แม็คคัลเลอร์ส เขียน
จุฑามาศ แอนเนียน แปลจากภาษาอังกฤษ
นันทพร ปีเลย์ โพธารามิก บรรณาธิการต้นฉบับ
สิริพร คดชาคร พิสูจน์อักษร
Wonderwhale ออกแบบปกและรูปเล่ม
ปกอ่อน จำนวน 130 หน้า ราคาปก 200 บาท
พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม พ.ศ. 2563
ISBN 978-616-8123-45-4
“หลายครั้งที่ความต้องการยิ่งใหญ่ที่สุดของคนเราคือการมีใครสักคนให้รัก เป็นจุดจดจ่อให้อารมณ์ที่ฟุ้งซ่าน และยังมีอีกหลายครั้งที่ความขัดเคือง ผิดหวัง และหวั่นกลัวต่อชีวิตเคลื่อนไหวไม่หยุดนิ่งราวตัวอสุจิ ต้องถูกปลดปล่อยออกมาในรูปความเกลียด”
Reflections in a Golden Eye หรือ ภาพฉายนัยน์พรายแสงว่าด้วยเรื่องราวความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นในค่ายทหารทางตอนใต้ของอเมริกาในช่วงทศวรรษที่ 1930 ชีวิตแต่งงานของร้อยเอกเพนเดอร์ตัน ผู้มีรสนิยมทางเพศแบบพิเศษและลีโอโนรา ผู้เป็นภรรยา มีอันต้องกลับตาลปัตรเพราะการมาถึงของพันตรีมอร์ริส แลงดอน เสือผู้หญิงเจ้าเสน่ห์ และแอลิสัน ภรรยาผู้บอบบางของเขา
นับเป็นวรรณกรรมที่สะท้อนจังหวะชีวิตของผู้คนหลากหลายในค่ายทหารที่ไม่เพียงเกี่ยวข้องต้องกันด้วยภาระหน้าที่ แต่ต่างเป็นทั้งนักล่าและเหยื่ออารมณ์ผู้มีไฟปรารถนาลุกโชนผิดวิถีธรรมดา ลึกซึ้ง เร้นลับ ยากหยั่งจะเข้าใจ ผลงานของคาร์สัน แม็คคัลเลอร์ส นักเขียนหญิงชาวอเมริกันผู้ถักทอร้อยเรียงนิยายขนาดสั้นให้เป็นกระจกสะท้อนความรู้สึกชวนไหวสั่นได้อย่างมหัศจรรย์คมคาย ตีพิมพ์หลังจาก The Heart Is a Lonely Hunter หรือ หัวใจคือนักล่าผู้ว้าเหว่ ผลงานเปิดตัวชิ้นเอกของคาร์สัน แมคคัลเลอร์ส เพียงแค่หนึ่งปี และผลงานเรื่องที่สองนี้ยืนยันถึงความอัจฉริยะของนักเขียนอายุน้อยได้เป็นอย่างดี
ในตอนแรกที่นวนิยายเรื่องนี้ออกมาสู่สายตานักอ่าน นักวิจารณ์ยังไม่แน่ใจว่าจะกล่าวถึงเรื่องราวที่ออกจะฉาวโฉ่ในเรื่องนี้อย่างไรดี แต่นักวิจารณ์คนหนึ่งจากนิตยาสาร Time เขียนไว้ว่า “คาร์สัน แมคคัลเลอร์ส เล่าเรื่องราวของเธอด้วยความเรียบง่าย ความเข้าใจอันลึกซึ้ง และพรสวรรค์ในการสร้างประโยคที่หาได้ยาก”
Olga
แบร์นฮาร์ด ชลิงค์ เขียน
เจนจิรา เสรีโยธิน แปลจากภาษาเยอรมัน
โปรดปราณ อรัญญิก บรรณาธิการต้นฉบับ
สราญรัตน์ ไว้เกียรติ และ อาทิตยา เตชพรรุ่ง พิสูจน์อักษร
Wonderwhale ออกแบบปก
นิกม์ จินตวร ออกแบบรูปเล่ม
ปกอ่อน จำนวน 210 หน้า ราคาปก 280 บาท
พิมพ์ครั้งแรก กันยายน พ.ศ. 2563
ISBN 978-616-8123-43-0
ความรัก ความหลงใหล และเป้าหมายแห่งชีวิตของคนคนหนึ่ง อาจมีค่าเทียบเท่าการเดินทางแสนยาวไกล ผ่านคืนวันเนิ่นนาน ท่ามกลางผืนฟ้าเวิ้งว้าง อุปสรรคนานา และอากาศเหน็บหนาว – ขณะที่บางคน ความรักคือการอดทนรอคอยในความเงียบงันโดยมิอาจสื่อสาร กระนั้น หัวใจแห่งความหวังของผู้ที่อยู่รอก็ไม่เคยล้าแรงลดแสงจนริบหรี่
โอลก้า เฝ้ารอการกลับมาของแฮแบร์ต ชายคนรัก ผู้ออกแสวงหาความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ไปในดินแดนบริสุทธิ์ที่ยังหลับใหลเช่นอาร์กติก โอลก้าคือครูชั้นผู้น้อยที่คิดว่าเยอรมนีควรเติบใหญ่อย่างค่อยเป็นค่อยไปและมั่นคง มองว่าการศึกษาจะทำให้ทุกคนเท่าเทียมและมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงเสมอกัน เธอเชื่อว่า ‘เสียง’ ของทุกคนนั้นมีความหมาย เฉกเช่นความเสียสละและลมหายใจที่คนธรรมดาก็แสดงออกได้ ไม่เพียงแต่นักสำรวจผู้เกรียงไกรหรือชายชาติทหารในสมรภูมิรบ
โอลก้า ผลงานของแบร์นฮาร์ด ชลิงค์ นักเขียนชื่อก้องชาวเยอรมัน ผู้เขียน Der Vorleser หรือ The Reader (1995) คือนิยายรักระหว่างหนุ่มสาว คือเรื่องเล่าลึกซึ้งถึงความรุ่งโรจน์อันอ่อนไหวในอดีต และความทะเยอทะยานที่ฝังแน่นอยู่ในจิตวิญญาณของมนุษย์
แบร์นฮาร์ด ชลิงค์ คือทนายความ อาจารย์ และนักเขียนนวนิยายชาวเยอรมัน ผู้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกจากผลงานนวนิยายเล่มดังขายดีเรื่อง เดอะ รีดเดอร์ (The Reader) ชลิงค์เกิดเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 1944 บิดาเป็นชาวเยอรมันชื่อเอ็ดมันด์ ส่วนมารดาเป็นชาวสวิสเซอร์แลนด์ชื่อเอิร์มการ์ด เขาเป็นลูกคนเล็กจากพี่น้องทั้งหมดสี่คน เติบโตที่เมืองไฮเดลแบร์กและเข้าศึกษาสาขากฎหมายที่มหาวิทยาลัยเวสท์เบอร์ลินก่อนจะสำเร็จการศึกษาในปี 1968 ชลิงค์ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาในช่วงปี 1988 และเริ่มทำงานเป็นอาจารย์สอนวิชากฎหมายที่มหาวิทยาลัยฮุมโบลดต์ กรุงเบอร์ลินในปี 1992 ก่อนจะเกษียณเมื่อปี 2006 ชลิงค์เริ่มก้าวสู่วงการวรรณกรรมด้วยงานเขียนนวนิยายชุดแนวสืบสวนและหนึ่งในนวนิยายเหล่านี้ของเขาได้รับรางวัลเกลาเซอร์ไพรซ์ในปี 1989 ต่อมาในปี 1995 ขณะอายุได้ 51ปี ชลิงค์ก็ตีพิมพ์เดอะ รีดเดอร์ เรื่องความรักระหว่างเด็กหนุ่มวัยรุ่นและหญิงสาววัย 30 ที่จู่ๆ ก็หายตัวไปอย่างกระทันหัน ก่อนที่ในเวลาต่อมาเขาจะได้พบกับเธออีกครั้งในฐานะอาชญากรสงคราม นวนิยายเรื่องนี้ขึ้นแท่นหนังสือขายดีทั้งในเยอรมนีและสหรัฐอเมริกา ทั้งยังถูกนำไปแปลเป็นหลากหลายภาษาและได้รับรางวัลจากหลายเวที ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นหนังสือสัญชาติเยอรมันเล่มแรกที่ติดอันดับขายดีของนิวยอร์คไทม์ด้วย
ความสำเร็จของชลิงค์ในฐานะนักเขียนเกิดขึ้นในวัยเกินครึ่งชีวิตและนวนิยายของเขาก็มักจะพูดถึงชีวิตในยามไกลบั้นปลายที่เต็มไปด้วยการหวนสะท้อนคิดถึงอดีตและความเสียใจเสียดาย แต่สิ่งเหล่านี้อาจเป็นกุญแจสู่ความสำเร็จของชลิงค์ก็ได้ ชลิงค์ไม่ได้หยุดอยู่กับความสำเร็จของเดอะ รีดเดอร์ ในปี 2000 ชลิงค์ตีพิมพ์หนังสือรวมเรื่องสั้นชื่อว่า ไฟลท์ส ออฟ เลิฟ (Flights of Love) ก่อนจะตามมาด้วยผลงานนวนิยายอีกหลายเล่ม และล่าสุดในปี 2018 แบร์นฮาร์ด ชลิงค์ ได้ตีพิมพ์นวนิยายเรื่องโอลก้า ที่ว่ากันว่ามีวิธีการเล่าเรื่องที่แตกต่างไปจากผลงานเรื่องที่ผ่านมา แต่ก็ยังคงเอกลักษณ์บางอย่างที่ทำให้โอลก้าประทับอยู่ในความทรงจำของนักอ่านได้ไม่ต่างจากผลงานอื่นๆ ของเขา
*หนังสือเล่มนี้ได้รับทุนสนับสนุนการแปลจากสถาบันเกอเธ่ มิวนิค และ กรุงเทพ*
The Blind Assassin
มาร์กาเร็ต แอ็ตวูด เขียน
นันทพร ปีเลย์ โพธารามิก แปล
สุนันทา วรรณสินธ์ เบล บรรณาธิการต้นฉบับ
สราญรัตน์ ไว้เกียรติ พิสูจน์อักษร
wrongdesign ออกแบบปก
นิกม์ จินตวร ออกแบบรูปเล่ม
ปกอ่อน จำนวน 876 หน้า ราคาปก 870 บาท
พิมพ์ครั้งแรก มิถุนายน พ.ศ. 2563
ISBN 978-616-8123-41-6
ความลับของครอบครัว ความไม่ลงรอยระหว่างพี่น้อง กลลวงทางการเมืองและความวุ่นวายในสังคม คำสัญญาและการทรยศหักหลัง ความสูญเสียและความเสียใจ ความทรงจำและความโหยหา ล้วนแล้วแต่เป็นประเด็นสำคัญที่ปรากฎอยู่ในนวนิยายเรื่องเยี่ยมของแอ็ตวูด The Blind Assassin
สำหรับนวนิยายเรื่องนี้แอ็ตวูดได้รับคำชมเชยอย่างที่สมควรจะได้จากความสามารถในการนำเสนอความซับซ้อนของชีวิตมนุษย์บนฉากหลักของประวัติศาสตร์แคนาดา The Blind Assassin ถ่ายทอดเรื่องราวของครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่สอง ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ และการล่าแม่มดคอมมิวนิสต์ แต่ทว่าในท้ายที่สุดแล้วโศกนาฏกรรมก็เกิดมาจากความอ่อนแอ ละโมบ และตัณหาของมนุษย์เอง
ผู้บอกเล่าเรื่องราวในนวนิยายเรื่องนี้คือ ไอริส เชส กริฟเฟน หญิงชราผู้อ่อนแอด้วยโรคหัวใจ เรื่องราวจากคำบอกเล่าของเธอเริ่มต้นขึ้นหลังจากการฆ่าตัวตายของลอร่า น้องสาวของเธอ เมื่อปี 1945 และการตีพิมพ์นวนิยายของลอร่าที่มีชื่อว่า The Blind Assassin ภายหลังการจากไปของเธอ จากนั้นการเล่าเรื่องของไอริสก็ถูกแทนที่ด้วยบทสนทนาระหว่างคนสองคนที่กำลังช่วยกันเขียนนวนิยายวิทยาศาสตร์ ซึ่งผู้อ่านก็พอจะรับรู้ได้ว่านี่คือเรื่องราวในนวนิยายของลอร่า หนึ่งในสองคนนี้คือหญิงสาวจากครอบครัวมั่งคั่งที่ไม่ปรากฎชื่อเสียงเรียงนาม ส่วนอีกคนคือชายคนรักของเธอที่กำลังหนีการตามล่าของกฎหมาย เรื่องราวที่ทั้งสองช่วยกันแต่งนำเสนอประเด็นเรื่องความหมกมุ่นทางเพศ ทรราชทางการเมือง ความยุติธรรมทางสังคม และความแตกต่างระหว่างชนชั้น นี่ทำให้เกิดเป็นโครงสร้างการเล่าเรื่องแบบนิยายซ้อนนิยายถึงสามชั้นด้วยกัน
เมื่ออ่านถึงกลางเรื่อง ผู้อ่านจะได้รับรู้ว่าสิ่งต่างๆ ไม่ได้เป็นดังเช่นที่เห็น การสังเกตในระดับจุลภาคของแอ็ตวูดทำให้รายละเอียดต่างๆ ในเรื่องกลายเป็นภาพเปรียบเปรยที่จับใจ แอ็ตวูดเชื่อมเส้นเรื่องทั้งสาม ได้แก่ ชีวิตปัจจุบันของไอริส เรื่องราวความเป็นมาของครอบครัว และเรื่องราวของหนุ่มสาวในนวนิยายของลอร่าเอาไว้ด้วยกันอย่างสร้างสรรค์และทรงพลัง เรื่องราวที่ตัดสลับไปมาไม่ได้ลดทอนอรรถรสของเรื่องลงแต่อย่างใด แต่กลับทำให้ยิ่งอยากอ่านต่อไปเรื่อยๆ ด้วยความตื่นเต้นจนแทบลืมหายใจ
มาร์กาเร็ต แอ็ตวูด มีผลงานประพันธ์มากกว่าสามสิบชิ้นไม่ว่าจะเป็นนวนิยาย บทกวีหรือบทวิจารณ์ นวนิยายของเธอประกอบด้วยผลงานที่ได้รับรางวัลอย่าง The handmaid’s Tale และ Cat’s eye ซึ่งอยู่ในรายชื่อหนังสือที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลบุคเกอร์ ไพรซ์ทั้งคู่ เรื่อง The Robber Bride และเรื่องล่าสุดของเธอ คือ Alias Grace ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลบุคเกอร์ไพรซ์เช่นกัน ผลงานชิ้นนี้ได้รับรางวัลกิลเลอร์ ไพรซ์ในแคนาดาและรางวัลพรีมิโอ มอนเดลโลในอิตาลี ผลงานของเธอมีชื่อเสียงไปทั่วโลกและมีการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ ถึง 32 ภาษา เธอได้รับรางวัลด้านวรรณกรรมมากมายและได้รับเกียรติจากประเทศต่าง ๆ รวมถึงอังกฤษ อิตาลี ฝรั่งเศส สวีเดนและนอร์เวย์ เช่นเดียวกันกับแคนาดาและสหรัฐอเมริกา มาร์กาเร็ต แอ็ตวูดอาศัยอยู่ในโตรอนโตกับนักเขียนแกรมม์ กิบสัน The Blind Assassin เป็นนวนิยายเรื่องที่สิบของเธอ โดยผลงานชิ้นนี้ได้รับรางวัลบุคเกอร์ ไพรซ์
Giovanni’s Room
เจมส์ บอลด์วิน เขียน
โตมร ศุขปรีชา แปล
นันทพร ปีเลย์ โพธารามิก บรรณาธิการต้นฉบับ
สราญรัตน์ ไว้เกียรติ พิสูจน์อักษร
Wonderwhale ออกแบบปกและรูปเล่ม
ปกอ่อน จำนวน 228 หน้า ราคาปก 290 บาท
พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม พ.ศ. 2563
ISBN 978-616-8123-38-6
…ห้องของเขาอยู่ด้านหลังชั้นล่างสุดของตึกหลังสุดท้ายบนถนนสายนี้ เราผ่านห้องด้านหน้าและลิฟต์เข้าไปสู่ทางเดินสั้นและมืดซึ่งนำไปยังห้องของเขา ห้องนั้นเล็ก ผมเห็นแค่เงาตะคุ่มของข้าวของระเกะระกะและความไม่เป็นระเบียบ มีกลิ่นแอลกอฮอล์ที่เขาเผาในเตา เขาล็อกประตูตามหลังเรา หลังจากนั้นครู่หนึ่งเราก็ได้แต่ยืนจ้องมองกันอยู่ในความสลัว—ด้วยความรู้สึกหวั่นหวาดระคนโล่งอก และลมหายใจหนักหน่วง ผมตัวสั่นเทา ผมคิดว่าถ้าเกิดไม่เปิดประตูบานนั้นออกไปจากที่นี่ทันทีละก็ ผมจะหลุดหลง แต่ผมรู้ว่าไม่สามารถเปิดประตูบานนั้นได้ ผมรู้ว่าสายเกินไปเสียแล้ว ในไม่ช้ามันจะสายเกินไปสำหรับทุกสิ่งทุกอย่างยกเว้นเสียงคราง เขาดึงผมเข้าไปชิด โถมกายเข้ามาในอ้อมแขนผมราวกับกำลังมอบตัวเองให้ผมโอบอุ้ม ก่อนจะค่อยๆ ดึงร่างผมลงไปบนเตียงหลังนั้นพร้อมกับเขา…
ห้องของโจวันนี สถานที่เปิดเปลือยอารมณ์และตัวตน สถานที่เก็บกักความร้าวรานและความหวัง สถานที่ซ่อนเสน่หาและสำแดงความภินท์พัง สถานที่ที่เป็นดังเกราะกำบังให้มนุษย์ผู้เปราะบางทุกตัวคน
ห้องของโจวันนี เล่าโดยเดวิด ชายอเมริกันผิวขาวที่มาใช้ชีวิตในปารีสระหว่างที่แฟนสาวเดินทางไปท่องเที่ยวสเปน เดวิดได้ไปพบโจวันนี บาร์เทนเดอร์หนุ่มน้อยชาวอิตาเลียนในบาร์แห่งหนึ่ง และมีความสัมพันธ์กันลึกซึ้งท่ามกลางบริบทของสังคมชาวเกย์ ทั้งรุ่นเล็กรุ่นใหญ่ ซึ่งความผูกพัน การได้ค้นพบตัวเอง การได้รู้จักหัวใจ และการได้สัมผัสความรู้สึกที่แท้จริงของตนเองของเดวิด รวมทั้ง 'ความอัคตัดขัดสน' ทำให้เกิดเรื่องราวซับซ้อนน่าเศร้าตามมาและนำไปสู่โศกนาฏกรรมที่ไม่มีใครอยากให้เกิด นวนิยายเรื่องที่สองของเจมส์ บอลด์วิน ซึ่งทำให้ชื่อเสียงเขาทะยานสู่ทำเนียบนักเขียนสมัยใหม่ที่ใช้ภาษาได้อย่างละเมียดละไม ถ่ายทอดอารมณ์เบื้องลึกของมนุษย์ที่ต้องปิดซ่อนแรงปรารถนาออกมาได้อย่างแจ่มชัด นับว่า ห้องของโจวันนี เป็นนวนิยายที่นำเสนอเรื่องราวของชาวเกย์ได้อย่างดีเยี่ยม ล้ำหน้านวนิยายเล่มไหนๆ มาตั้งแต่ปี 1956
The Bluest Eye
โทนี มอร์ริสัน เขียน
จุฑามาศ แอนเนียน แปล
สุนันทา วรรณสินธ์ เบล บรรณาธิการต้นฉบับ
นิชานันท์ นันทศิริศรณ์ พิสูจน์อักษร
มานิตา ส่งเสริม ออกแบบปกและรูปเล่ม
ปกแข็ง จำนวน 262 หน้า ราคาปก 450 บาท ISBN 978-616-8123-40-9
ปกอ่อน จำนวน 262 หน้า ราคาปก 300บาท ISBN 978-616-8123-39-3
พิมพ์ครั้งแรก กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563
"ถ้าอย่างนั้นก็แย่จังเลยนะ ใช่มั้ย
ช่วยฉันดูหน่อยนะ
ไม่ละ
แต่ตาฉันอาจยังเป็นสีฟ้าไม่พอก็ได้นะ
เป็นสีฟ้าพอสำหรับอะไร
เป็นสีฟ้ามากพอสำหรับ... ฉันไม่รู้ ฟ้ามากพอสำหรับบางอย่าง
ฟ้ามากพอ... สำหรับเธอไง!
ฉันไม่เล่นกับเธอแล้ว
โธ่ อย่าทิ้งฉันไปนะ
ไม่ละ ฉันจะไป
ทำไมล่ะ เธอโกรธฉันเหรอ
ใช่
เพราะตาฉันยังเป็นสีฟ้าไม่พอใช่มั้ย เพราะฉันไม่ได้มีตาสีฟ้าที่สุด
เปล่า เพราะเธอทำตัวงี่เง่าต่างหาก
อย่าไปเลยนะ อย่าทิ้งฉันไป เธอจะกลับมามั้ยถ้าฉันเอามาได้
เอาอะไรมาได้
ดวงตาสีฟ้าที่สุดไง แล้วเธอจะกลับมาไหม
กลับมาแน่นอน ฉันไปแค่ประเดี๋ยวเดียวเท่านั้นเอง
เธอสัญญานะ
แน่นอน ฉันจะกลับมาอยู่ต่อหน้าต่อตาเธอเลย…"
The Bluest Eye หรือ ดวงตาสีฟ้าสุดฟ้า นวนิยายเรื่องแรกของนักเขียนแอฟริกันอเมริกัน โทนี มอร์ริสัน ตั้งคำถามสำคัญถึงความหมายของความงามที่ไม่อาจมีใครสรุปความด้วยมุมมองเพียงด้านเดียวได้ เด็กหญิงผิวดำ ตาดำ ผมดำ นามพีโคลา ปรารถนาดวงตาสีฟ้าด้วยคิดว่านั่นคือคุณลักษณะแห่งความสวยที่ทุกคนยอมรับและฝันใฝ่
ดวงตาสีฟ้าสุดฟ้า สะท้อนสภาวะการปฏิเสธอัตลักษณ์แห่งเผ่าพันธุ์ ความชิงชังตนเอง และการพยายามหลอมรวมเลือดเนื้อของตนให้เป็นส่วนหนึ่งในมาตรฐานอื่น ท่ามกลางม่านหมอกแห่งการหมิ่นหยาม การล่วงละเมิด ความอัตคัด ความหวัง และความสิ้นหวัง จนกลายเป็นนวนิยายทรงพลังของวงการวรรณกรรมโลก
โทนี มอร์ริสันจบการศึกษาด้านวรรณคดีระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยฮาวเวิร์ด และระดับปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยคอร์แนล เคยเป็นบรรณาธิการสำนักพิมพ์แรนดอม เฮ้าส์ ได้รับเกียรติยศสูงสุดคือรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม เมื่อปี ค.ศ.1993
โทนี มอร์ริสัน เกิดเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1931 ที่รัฐโอไฮโอ ประเทศสหรัฐอเมริกา จบการศึกษาระดับปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยคอร์แนล ผ่านงานสอนในวงการวิชาการและเป็นสตรีผิวสีคนแรกที่ดำรงตำแหน่งบรรณาธิการแห่งสำนักพิมพ์แรนด้อม เฮ้าส์ Beloved (1987) คือเรื่องเล่าชาวทาสอันทรงพลังแห่งศตวรรษ ซึ่งพลิกโฉมประวัติศาสตร์กลวิธีการถ่ายทอดชะตาชีวิตและความรู้สึกนึกคิดของคนผิวสีภายใต้ระบบทาสของอเมริกาได้อย่างลึกซึ้งหลักแหลม ทำให้มอร์ริสันได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ประจำปี ค.ศ. 1988 ด้วยความเป็นเลิศทางวรรณศิลป์ และความมุ่งมั่นพยายามสร้างความเข้าใจเรื่องสิทธิแห่งความเท่าเทียมระหว่างมนุษย์ผ่านงานประพันธ์ ยังผลให้มอร์ริสันได้รับรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม ประจำปี ค.ศ. 1993 มอร์ริสันเสียชีวิตเมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2019 สิริอายุ 88 ปี ผลงานเล่มเด่นนอกจากนี้ ได้แก่ The Bluest Eye (1970) และ Song of Solomon (1977)
Beloved
โทนี มอร์ริสัน เขียน
รังสิมา ตันสกุล แปล
นลัท ตั้งพรพิพัฒน์ และ สุนันทา วรรณสินธ์ เบล บรรณาธิการต้นฉบับ
นิชานันท์ นันทศิริศรณ์ พิสูจน์อักษร
มานิตา ส่งเสริม ออกแบบปกและรูปเล่ม
ปกอ่อน จำนวน 448 หน้า ราคาปก 480 บาท ISBN 978-616-8123-34-8
พิมพ์ครั้งแรก มกราคม พ.ศ. 2563
BELOVEDนวนิยายชิ้นสำคัญของนักเขียนหญิงแอฟริกันอเมริกัน โทนี มอร์ริสัน สั่นสะเทือนโลกวรรณกรรมด้วยเค้าเรื่องจากเหตุการณ์จริงในประวัติศาสตร์ กรณีทาสหญิงตัดสินใจกระทำทารกฆาตเพื่อมอบอิสรภาพแก่ลูกน้อย เปิดให้ทบทวนและท้าทายความสามารถที่จะจำและความสามารถที่จะลืมผ่านตัวละคร บีเลิฟด์ หญิงสาวผู้ปรากฏตัวจากผิวน้ำ มีพฤติกรรมแปลกประหลาดลึกลับ และเข้ามาอยู่ในครอบครัวของอดีตทาสอย่างไม่รู้ต้นสายปลายเหตุ เป็นผู้นำพาความทรงจำที่หลายคนต้องการลืมให้ฟื้นคืนกลับมา ก่อตะกอนแห่งความเจ็บปวดที่ผู้คนอยากละทิ้งให้ตลบอวลอีกครั้ง เปิดบาดแผลและชำแหละร่องรอยแห่งความเลวร้ายที่ใครต่อใครอยากปลิดทิ้ง
BELOVED วรรณกรรมรางวัลพูลิตเซอร์ประจำปี ค.ศ.1988ตั้งคำถามถึงมนุษย์ผู้มีวันวานอันแสนเจ็บปวดว่าความทรมานสาหัสจากการโดนกดทับนั้นคือสิ่งที่ควรค่า แก่การบอกเล่า เรียนรู้ จดจำ หรือควรปล่อยให้มันผ่านลับล่วงเลย
โทนี มอร์ริสันจบการศึกษาด้านวรรณคดีระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยฮาวเวิร์ด และระดับปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยคอร์แนล เคยเป็นบรรณาธิการสำนักพิมพ์แรนดอม เฮ้าส์ ได้รับเกียรติยศสูงสุดคือรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม เมื่อปี ค.ศ.1993
โทนี มอร์ริสัน เกิดเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1931 ที่รัฐโอไฮโอ ประเทศสหรัฐอเมริกา จบการศึกษาระดับปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยคอร์แนล ผ่านงานสอนในวงการวิชาการและเป็นสตรีผิวสีคนแรกที่ดำรงตำแหน่งบรรณาธิการแห่งสำนักพิมพ์แรนด้อม เฮ้าส์ Beloved (1987) คือเรื่องเล่าชาวทาสอันทรงพลังแห่งศตวรรษ ซึ่งพลิกโฉมประวัติศาสตร์กลวิธีการถ่ายทอดชะตาชีวิตและความรู้สึกนึกคิดของคนผิวสีภายใต้ระบบทาสของอเมริกาได้อย่างลึกซึ้งหลักแหลม ทำให้มอร์ริสันได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ประจำปี ค.ศ. 1988 ด้วยความเป็นเลิศทางวรรณศิลป์ และความมุ่งมั่นพยายามสร้างความเข้าใจเรื่องสิทธิแห่งความเท่าเทียมระหว่างมนุษย์ผ่านงานประพันธ์ ยังผลให้มอร์ริสันได้รับรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม ประจำปี ค.ศ. 1993 มอร์ริสันเสียชีวิตเมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2019 สิริอายุ 88 ปี ผลงานเล่มเด่นนอกจากนี้ ได้แก่ The Bluest Eye (1970) และ Song of Solomon (1977)
Die Vermessung der Welt
ผู้เขียน ดานีเอล เคห์ลมันน์
ผู้แปล เจนจิรา เสรีโยธิน
บรรณาธิการต้นฉบับ ชลิต ดุรงค์พันธ์
ออกแบบปก Mongkol Navy
ออกแบบรูปเล่ม นิกม์ จินตวร
พิสูจน์อักษร จริยา สุริยาวงค์ และ นิชานันท์ นันทศิริศรณ์
จำนวน 290 หน้า ราคาปก 350 บาท
พิมพ์ครั้งแรก กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 โดยสำนักพิมพ์วงกลม
พิมพ์ครั้งที่สอง พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 ปรับปรุงใหม่โดยสำนักพิมพ์ไลบรารี่ เฮ้าส์
ISBN 978-616-8123-32-4
“คนที่พิชิตภูเขา คือคนที่ขึ้นไปถึงยอดเขา หากไม่ถึงยอดเขา ย่อมไม่ได้ชื่อว่าพิชิตภูเขา”
การโคจรพบกันที่เบอร์ลิน ในปี ค.ศ. 1828 ระหว่างขุนนางนักธรณีวิทยา อเล็กซานเดอร์ ฟอน ฮุมโบลท์ ผู้หลงใหลการออกเดินทางไกลเพื่อสำรวจโลก กับนักคณิตศาสตร์ระบือนาม คาร์ล ฟรีดริช เกาส์ ผู้ไม่ยอมออกจากบ้านไปไหน ได้กลายมาเป็นเรื่องราวของปูชนียบุคคลสองคนต่างขั้วที่เชิญชวนให้นักอ่านพิสูจน์อัจฉริยภาพอันเอกอุ และพินิจความจริงอีกหลายด้านของพวกเขาในฐานะปุถุชนคนธรรมดา เพื่อทดสอบความสามารถในการใช้เหตุผลและปัญญา ค้นหาความจริงของโลกและโลกแห่งความจริงในรูปแบบเฉพาะตน
ดานีเอล เคห์ลมันน์ เกิดเมื่อวันที่ 13 มกราคม ค.ศ. 1975 ที่ เมื องมิ วนิ คประเทศเยอรมนี จบการศึกษาด้านปรัชญาและเยอรมันศึกษาจากมหาวิทยาลัยเวียนนา คนวัดโลก หรือ Die Vermessung der Welt (2005) คือนวนิยายขายดีติดอันดับโลก มีการแปล มากกว่าสี่สิบภาษา ยอดขายมากกว่าสองล้านเล่ม ทำให้เคห์ลมันน์กลายเป็นนักเขียนเยอรมันร่วมสมัยที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงอีกคนหนึ่งในปัจจุบัน
ENSAIO SOBRE A CEGUEIRA
ผู้เขียน ฌูเซ่ ซรารามากู
ผู้แปล กอบชลี
บรรณาธิการต้นฉบับ สุนันทา วรรณสินธ์ เบล
ออกแบบปกและรูปเล่ม Wonderwhale
พิสูจน์อักษร สราญรัตน์ ไว้เกียรติ
จำนวน 356 หน้า ราคาปก 380 บาท
พิมพ์ครั้งแรก กันยายน พ.ศ. 2562
ISBN 978-616-8123-31-7
“ผมเห็นทุกสิ่งเป็นสีขาวไปหมด ราวกับว่าไม่มีกลางคืน”
ขณะที่ชายคนหนึ่งขับรถติดไฟแดง จู่ๆ ดวงตาของเขากลับเห็นแต่สีขาว เขากลายเป็นคนตาบอด และแล้วอาการตาบอดของคนที่หนึ่ง ก็ลุกลามแพร่ระบาดไปถึงอีกคน อีกคน และอีกคน จนกระทั่งคนทั้งเมืองสูญเสียการมองเห็น รัฐบาลพยายามกักกันผู้ติดโรคเพื่อยับยั้งอาการประหลาดด้วยมาตรฐานการเยียวยาที่ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน ไม่มีวิธีรักษา ไม่มีช่องทางสื่อสาร ก่อนจะเกิดความโกลาหลอลหม่าน เกิดสภาวการณ์ที่ไม่สามารถชี้วัดสาเหตุอย่างแท้จริง บอด ผลงานของฌูเซ่ ซารามากู เจ้าของรางวัลโนเบล ประจำปี ค.ศ.1998 คือนวนิยายที่ฉายภาพชะตากรรมและจริยธรรมของผู้คนที่สับสนพังทลาย พร้อมท้าทายความเชื่อเดิมว่าอาการตาบอดเป็นโรคติดต่อรุนแรง
ฌูเซ่ ซารามากู เกิดเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน ค.ศ. 1922 ในหมู่บ้านเล็กๆ ชื่ออะซินญากะ ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงลิสบอน ประเทศโปรตุเกส ซารามากูไม่ได้เรียนตามหลักสูตรสามัญเพราะครอบครัวมีฐานะยากจน เขาจบการศึกษาจากโรงเรียนการช่าง เริ่มอาชีพเป็นช่างซ่อมกุญแจ ก่อนจะผันตัวเข้าสู่เส้นทางหนังสือด้วยการเป็นนักแปล นักหนังสือพิมพ์ และนักเขียน ชื่อเสียงทางการประพันธ์ของซารามากูขจรขจายเมื่อเขาอายุ 60 ปีแล้ว ผลงานของเขามีจุดเด่นอยู่ที่การสร้างจินตนาการเหนือจริงและโครงสร้างการใช้ภาษาแสนอัศจรรย์ อัจฉริยภาพไร้ขีดจำกัดของซารามากูยังผลให้เขาได้รับรางวัลทางวรรณกรรมมากมายรวมทั้งรางวัลโนเบล ประจำปี ค.ศ. 1998 มีการแปลผลงานเป็นภาษาต่างๆ กว่า 25 ภาษา ซารามากูเสียชีวิตที่ประเทศสเปน เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน ค.ศ. 2010 ด้วยอาการโรคปอดอักเสบ
วรรณกรรมแปลเล่มนี้ได้รับทุนสนับสนุนการแปลจาก Direção-Geral do Livro, dos Arquivos e das Bibliotecas (DGLAB) กรุงลิสบอน ประเทศโปรตุเกส
THE ROMAN SPRING OF MRS. STONE
ผู้เขียน เทนเนสซี วิลเลียมส์
ผู้แปล บัญชา สุวรรณานนท์
บรรณาธิการต้นฉบับ อรจิรา โกลากุล
ออกแบบปก Mongkol Navy
ออกแบบรูปเล่ม คนธรัตน์ เตชะไตรศร
พิสูจน์อักษร สราญรัตน์ ไว้เกียรติ
จำนวน 114 หน้า ราคาปก 200 บาท
พิมพ์ครั้งแรก สิงหาคม พ.ศ. 2562
ISBN 978-616-8123-30-0
วสันต์สวาทของคุณนายสโตน นวนิยายขนาดสั้นของเทนเนสซี วิลเลียมส์ เจ้าของรางวัลพูลิตเซอร์สาขาบทละคร ประจำปีค.ศ. 1948 และ 1955 ชวนพินิจความรุ่งโรจน์เรืองรองของอดีตที่ไม่มีวันย้อนคืน เปิดประตูชวนแสวงหาความหวังและความหมายใหม่ให้ห้วงเวลาที่กำลังผันผ่าน ด้วยเรื่องราวของแคแร็น สโตน อดีตนางเอกละครผู้เลอโฉมซึ่งตกพุ่มหม้าย เธอเป็นเช่นเดียวกับผู้งามเด่นทั้งหลายที่ “คิดฝันหวานมานานแล้วว่าตนจะตายก่อนถึงวัยแก่ชรา” แต่เส้นทางชีวิตทำให้เธอยังต้องหมุนเคลื่อนเลื่อนไหล ไปตามกระแสแห่งความเปลี่ยนแปลงที่ยังดำเนินเรื่อยไป สวนทางกับความงามที่นับวันกลับยิ่งโรยรา
เทนเนสซี วิลเลียมส์ คือนามปากกาของโทมัส ลาเนียร์ วิลเลียมส์ ที่สาม เกิดเมื่อวันที่ 26 มีนาคม ค.ศ. 1911 ที่เมืองโคลัมบัส รัฐมิสซิสซิปปี ประเทศสหรัฐอเมริกาจบการศึกษาด้านภาษาอังกฤษจากมหาวิทยาลัยไอโอวา และหลักสูตรอบรมการละครที่The New School for Social Research ในนิวยอร์ค ได้รับการยกย่องในวงการละคร อเมริกาว่าเป็นนักเขียนบทละครยอดเยี่ยมแห่งศตวรรษที่ยี่สิบร่วมกับยูจีน โอ’นีลล์ และ อาร์เธอร์ มิลเลอร์ เทนเนสซี วิลเลียมส์ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์สาขาบทละคร ประจำปี ค.ศ. 1948 จากเรื่อง A Streetcar Named Desire และ ค.ศ. 1955 จากเรื่อง Cat on a Hot Tin Roof
DIE WELT IM RÜCKEN
ผู้เขียน โมทัส เม็ลเล ผู้แปล อัญชลี โตพึ่งพงศ์
บรรณาธิการต้นฉบับ ชลิต ดุรงค์พันธ์
ออกแบบปก มานิตา ส่งเสริม
ออกแบบรูปเล่ม คนธรัตน์ เตชะไตรศร
พิสูจน์อักษร นิชานันท์ นันทศิริศรณ์
จำนวน 334 หน้า ราคาปก 370 บาท
พิมพ์ครั้งแรก มิถุนายน พ.ศ. 2562
ISBN 978-616-8123-28-7
"เขาก็คือมัน เขาคือการกระทำทุกอย่าง คือความพินาศย่อยยับ และเรื่องน่าหัวเราะเยาะทุกชนิด เขาคือความมากล้น และการประมวลผลอันผิดพลาด คือการถูกครอบงำและประโยคคำพูดไร้สาระ คือการถูกกักตัวไว้ที่บ้าน และความพยายามฆ่าตัวตาย คือความน่าอับอายขายหน้า คือความคลุ้มคลั่งอาละวาด คือความล้มเหลวภินท์พัง เขาคืออันธพาล จากนั้นก็คือซากศพ และบัดนี้ ผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ก็กลายเป็นคนที่ถูกทำให้แปลกแยกไปโดยปริยาย..."
ในโลกอันแปรปรวน: บันทึกของนักเขียนไบโพลาร์ งานแปลจากภาษาเยอรมันที่จะนำให้คุณเข้าไปในห้วงอารมณ์สองขั้ว แปรปรวน หมุนเหวี่ยง และเดียวดายอยู่ระหว่างเรื่องจริงและเรื่องแต่ง ได้ใคร่ครวญทบทวนความ(ไม่)ปกติของตนเอง และรู้จักการอยู่ร่วมกับมนุษย์ผู้(ไม่)ปกติซึ่งมีมากมายบนโลกบิดเบี้ยวใบนี้ ประสบการณ์ตรงของผู้เขียน โทมัส เม็ลเล นักเขียนร่วมสมัยชาวเยอรมันที่ได้รับรางวัลทางวรรณกรรมมากมาย ปัจจุบันเม็ลเลนักอยู่ที่กรุงเบอร์ลิน และยังใช้ชีวิตบนเส้นทางนักประพันธ์
วรรณกรรมแปลเล่มนี้ได้รับทุนสนับสนุนการแปลจากโครงการ The Merck Social Translation Project ร่วมกับสถาบันเกอเธ่
MATHILDA
ผู้เขียน แมรี แชลลีย์
ผู้แปล ไอริสา ชั้นศิริ
บรรณาธิการต้นฉบับ เจนจิรา เสรีโยธิน
ออกแบบปกและรูปเล่ม wonderwhale
ภาพประกอบปก Tuija Heikkinen
พิสูจน์อักษร สราญรัตน์ ไว้เกียรติ
จำนวน 166 หน้า ราคาปก 220 บาท
พิมพ์ครั้งแรก พฤษภาคม พ.ศ. 2562
ISBN 978-616-8123-25-6
วรรณกรรมแปลในชุด The 19th C. Story อันดับที่ 3
มาธิลดา ดรุณีโฉมสะคราญ ผู้เผชิญกับจิตปฏิพัทธ์ลึกซึ้งเกินขอบเขตของบิดา ผู้มีโชคชะตาไม่ผิดจากคลื่นทะเลคลั่ง ชีวิตกอปรด้วยความรัก ความตาย ความเศร้าสลดใจ และความผิดหวัง Mathilda คือเรื่องราวความรักต้องห้ามของผู้เป็นพ่อที่มีต่อลูกสาว นำมาซึ่งโศกนาฏกรรมและความระทมทุกข์จนตราบชั่วชีวิต นวนิยายขนาดสั้นภาษาสวยเล่มนี้ เขียนขึ้นระหว่างปี 1819 – 1820 ตีพิมพ์ครั้งแรกโดยไม่ปรากฏนามผู้แต่งในปี 1959สะท้อนชีวิตจริงของแมรี แชลลีย์ ผู้เขียน แม้ได้รับคำวิจารณ์ว่าเป็นงานประพันธ์ที่น่าเดียดฉันท์ในยุคนั้น แต่เมื่อเวลาเปลี่ยนไป ก็สามารถเอาชนะใจนักอ่านจำนวนมากไม่แพ้ Frankenstein (1818) นวนิยายเล่มดัง
หนังสือเล่มนี้เป็นวรรณกรรมแปลอันดับที่สามในชุด The 19th C. Story ที่ไลบรารี่ เฮ้าส์คัดสรรนวนิยายอังกฤษและอเมริกันขนาดสั้นจากศตวรรษที่ 19 ตั้งแต่ช่วงต้น กลาง และปลายยุคสมัยมาให้นักอ่านได้ย้อนเวลากลับไปดื่มด่ำความรื่นรมย์แห่งชีวิตแบบเรียลิสต์ เมื่อร้อยกว่าปีก่อน กับตัวละครต้นเรื่องหรือ Title character – หัวใจสำคัญ
THE PRAGUE ORGY
ผู้เขียน ฟิลิป ร็อท
ผู้แปล บัญชา สุวรรณานนท์
บรรณาธิการต้นฉบับ นันทพร โพธารามิก
พิสูจน์อักษร สราญรัตน์ ไว้เกียรติ
ออกแบบปกและรูปเล่ม Wonderwhale
จำนวน 115 หน้า ราคาปก 190 บาท
พิมพ์ครั้งแรก พฤษภาคม พ.ศ. 2562
ISBN 978-616-8123-26-3
ซุกเคอร์แมน นักเขียนชาวอเมริกันเชื้อสายยิว มุ่งหน้าสู่กรุงปรากแห่งประเทศเชโกสโลวาเกีย เพื่อค้นหาต้นฉบับเรื่องสั้นภาษายิดดิชราวสองร้อยเรื่องจากคำร้องขอของซีซอฟสกี บุตรชายผู้ประพันธ์ ด้วยเชื่อมั่นว่างานเขียนเหล่านั้นจะแจ้งเกิดโด่งดังในอเมริกาได้ ประสบการณ์หวนคืนสู่รากเหง้าทำให้เขาเจอกับโอลกา ภรรยาทรงเสน่ห์ของซีซอฟสกี เธอคนนี้คือนักแสดงละครเวที ‘ตัวดี’ และเป็นคนทำให้ซุกเคอร์แมนได้ลิ้มรสขื่นของอำนาจบงการ มุมมองต่อโลกของซุกเคอร์แมนเริ่มเสียศูนย์ อิสรภาพแห่งความคิดระส่ำระสาย ความงามของศิลปะบิดเบี้ยว และความหมายของวรรณกรรมพลิกผันกลับกลาย เมื่อเขาต้องพยายามตัวรอดให้ได้ในสภาวการณ์ปกติและไม่ปกติที่หลั่งไหลหล่อหลอมเข้าด้วยกัน
เริงโลกีย์ที่ปราก (1985) นวนิยายขนาดสั้นของฟิลิป ร็อท เขย่าหัวใจนักอ่านด้วยกลวิธีการเสนอความเป็นจริงของสังคมเผด็จการกับความเปรียบเชิงสังวาสและการสำเริงสำราญรวมหมู่
ฟิลิป ร็อท ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์จากผลงานนวนิยายเรื่อง American Pastoral เมื่อปี ค.ศ. 1998 ต่อมาได้รับเหรียญ National Medal of Arts จากทำเนียบขาว และในปี ค.ศ. 2002 ได้รับเหรียญทองเชิดชูเกียรติสำหรับผลงานด้านนวนิยาย อันเป็นรางวัลขั้นสูงสุดจากสถาบันศิลปะและวรรณกรรมแห่งสหรัฐอเมริกา ฟิลิป ร็อทได้รับรางวัล National Book Award สองครั้ง รางวัลNational Book Critics Circle Awards สองครั้ง และรางวัลPEN/Faulkner Award สามครั้ง ครั้นในปี ค.ศ. 2005 นวนิยายเรื่อง The Plot Against America ก็ได้รางวัลจากสมาคมนักประวัติศาสตร์ของอเมริกา (Society of American Historians) ในฐานะที่เป็น “นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ที่มีแก่นเรื่องเกี่ยวกับอเมริกา ซึ่งมีความโดดเด่นประจำช่วงปี ค.ศ. 2003–2004” และได้รางวัล WH Smith Literary Award สำหรับหนังสือดีที่สุดของปี ซึ่งทำให้ฟิลิป ร็อทเป็นนักประพันธ์คนแรกที่ได้รับรางวัลนี้ถึงสองครั้งในช่วงสี่สิบหกปีของการให้รางวัลนี้
Ethan Frome
ผู้เขียน อีดิธ วอร์ตัน ผู้แปล โรเบอต้า เอนกาล๊อก
บรรณาธิการต้นฉบับ นลัท ตั้งพรพิพัฒน์
ผู้ออกแบบปก Wonderwhale
จำนวน 146 หน้า ราคาปก 180 บาท
ปีที่พิมพ์ มกราคม พ.ศ. 2562
ISBN 978-616-8123-24-9
วรรณกรรมแปลในชุด The 19th C. Story อันดับที่ 2
โศกนาฏกรรมความรักและชะตากรรมอันโหดร้าย ท่ามกลางความหนาวเหน็บจับขั้วหัวใจและความแร้นแค้นในเมืองสตาร์คฟิลด์ รัฐแมสซาชูเซตส์ ของอีธาน โฟรม ชายที่ผู้คนในเมืองรู้จักเขาและจดจำเหตุการณ์สะเทือนใจของเขาได้ดี แต่กลับไม่มีใครรู้เรื่องราวแน่ชัดและยังมีแต่คำถามว่าแท้จริงแล้วเกิดอะไรขึ้นกันแน่
ย้อนไปเมื่อยี่สิบสี่ปีก่อน อีธาน โฟรมในวัยหนุ่มใช้ชีวิตอย่างสันโดดในเมืองเกษตรกรรมห่างไกลความเจริญ ความใฝ่ฝันเป็นวิศวกรอยู่ในเมืองใหญ่จบลงเมื่อเขาต้องกลับมาดูแลพ่อแม่ที่บ้าน และต้องรับภาระในไร่และโรงเลื่อยต่อจากพ่อ หลังจากพ่อเสียชีวิตเขาก็ได้ซีโนเบีย เพียซ หรือซีน่ามาดูแลแม่ เมื่อแม่จากไป อีธานตกลงใจร่วมชีวิตกับซีน่า ทว่าการแต่งงานไม่ได้มาจากความรัก กลายเป็นว่าคนทั้งคู่อยู่กันอย่างจำใจ ซีน่าไม่ได้ปรารถนาจะเป็นแม่บ้านในท้องไร่ห่างไกล เธออยากออกไปจากเมืองนี้แต่เธอก็ไม่มีทางเลือก เนื่องจากไม่มีใครมาซื้อไร่ของพวกเขา เมืองแห่งนี้กักขังทั้งคู่ไว้ให้ต้องทนทุกข์กับความยากจนที่ไม่มีทางต่อสู้ นานวันซีน่าเริ่มเจ็บป่วย เธอจำเป็นต้องมีคนมาดูแลและแบ่งเบางานบ้าน เธอจึงรับแมตตี้ ซิลเวอร์ ลูกพี่ลูกน้องมาอยู่ด้วยโดยให้ทำงานรับใช้แลกอาหารและที่อยู่ แมตตี้ต้องยอมรับความเป็นอยู่เพราะเธอเองก็ไม่มีที่ไป ทุกสิ่งที่เธอทำไม่เคยได้ดั่งใจคุณนายโฟรม แมตตี้รู้สึกโดดเดี่ยว มีแต่เพียงอีธานเท่านั้นที่ใจดีกับเธอ ความรู้สึกดีก่อตัวขึ้นระหว่างอีธานและแมตตี้ ทว่าทั้งคู่ก็ยังต้องซ่อนเร้นความรู้สึกและหักห้ามใจไว้เพราะศีลธรรมค้ำคอ กระนั้นซีน่าก็รับรู้ถึงความสัมพันธ์อันคลุมเครือและความอึดอัดภายในชายคาบ้านที่ทั้งสามอยู่ร่วมกัน และแล้ววันหนึ่งความปรารถนาที่ซ่อนไว้ถูกเปิดเผย คนทั้งสามตัดสินใจกระทำบางอย่างที่เปลี่ยนชีวิตและชะตากรรมพวกเขาไปตลอดกาล
อีธาน โฟรม หรือ Ethan Frome ผลงานของอีดิธ วอร์ตัน นักเขียนหญิงชาวอเมริกันคนแรกที่ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์สาขาวรรณกรรมเมื่อปี ค.ศ. 1921 อีธาน โฟรมเป็นนวนิยายที่มีคนอ่านมากที่สุดของวอร์ตันอีกเล่มหนึ่ง มีจุดเด่นด้านการใช้ภาษาภาพพจน์ที่แจ่มชัด ยังผลให้ชะตากรรมอันโหดร้ายและสิ้นหวังของมนุษย์ที่ต้องพ่ายแพ้ต่ออำนาจของกรงขังทั้งแบบรูปธรรมและนามธรรมเป็นสิ่งที่สัมผัสได้ไม่ยากในนวนิยายขนาดสั้นเล่มนี้ อีธาน โฟรมตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1911 ถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์นำแสดงโดยเลียม นีสันเมื่อปี ค.ศ. 1993 และเป็นละครเวทีเมื่อปี ค.ศ. 2011
หนังสือเล่มนี้เป็นวรรณกรรมแปลอันดับที่สองในชุด The 19th C. Story ที่ไลบรารี่ เฮ้าส์คัดสรรนวนิยายอังกฤษและอเมริกันขนาดสั้นจากศตวรรษที่ 19 ตั้งแต่ช่วงต้น กลาง และปลายยุคสมัยมาให้นักอ่านได้ย้อนเวลากลับไปดื่มด่ำความรื่นรมย์แห่งชีวิตแบบเรียลิสต์ เมื่อร้อยกว่าปีก่อน กับตัวละครต้นเรื่องหรือ Title character – หัวใจสำคัญ
Daisy Miller: A Study
ผู้เขียน เฮนรี เจมส์ ผู้แปล โรเบอต้า เอนกาล๊อก
บรรณาธิการต้นฉบับ เจนจิรา เสรีโยธิน, รังสิมา ตันสกุล
ผู้ออกแบบปก Wonderwhale
จำนวน 92 หน้า ราคาปก 160 บาท
ปีที่พิมพ์ ธันวาคม พ.ศ. 2561
ISBN 978-616-8123-22-5
วรรณกรรมแปลในชุด The 19th C. Story อันดับที่ 1
เฟรดเดอริก วินเทอร์บอร์น ชายหนุ่มชาวอเมริกันผู้เติบโตและใช้ชีวิตอยู่ในยุโรปเป็นเวลานาน เดินทางจากเมืองเจนีวามาเพื่อเยี่ยมป้าของเขาที่เมืองเวอเวย์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่นั่น เขาได้พบกับแอนนี พี. มิลเลอร์ หรือเดย์ซี มิลเลอร์ หญิงสาวเพื่อนร่วมชาติจากเมืองสเกอเนคตาดี รัฐนิวยอร์ค ซึ่งกำลังเดินทางท่องเที่ยวพักผ่อนในยุโรปกับมารดาและน้องชาย ด้วยอุปนิสัยที่ไม่เหมือนหญิงคนใด ทั้งความตรงไปตรงมาและไม่ทำตัวตามธรรมเนียมทำให้เขาหลงเสน่ห์เธอแต่ผู้คนรอบตัวเขาต่างพากันมองว่าเธอไม่ใช่ผู้หญิงที่ดีเพราะเที่ยว “ระริกระรี้” สนิทสนมกับชายหนุ่มทุกคนอย่างง่ายดาย รวมไปถึงพฤติกรรมที่เพิกเฉยต่อธรรมเนียมปฏิบัติของสังคมซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวอเมริกันชั้นสูงรับไม่ได้ เฟรดเดอริกต้องเผชิญกับความกดดันจากคติของสังคมความรู้สึกของหัวใจตนเองและตัวตนของเดย์ซี ว่าแท้จริงแล้วเธอคือหญิงสาวใสซื่อ อ่อนเดียงสาและรักอิสระ หรือเป็นหญิงสาวที่จงใจหว่านเสน่ห์และเร่รักกันแน่ ว่ากันว่าการมาเยือนเจนีวาครั้งนี้ของเขาจึงเป็น “การศึกษา” อย่างหนักของเขาในอันที่จะพาตัวเองเข้าถึงบทสรุปของหัวใจตนเองและความรู้สึกนึกคิดของหญิงงามชาวอเมริกันผู้ตกเป็นจำเลยของสังคม–เดย์ซี มิลเลอร์
เดย์ซี มิลเลอร์: การศึกษาสองภาค หรือ Daisy Miller: A Study ผลงานของเฮนรี เจมส์ (Henry James) นักเขียนชายชาวอเมริกันผู้ยิ่งใหญ่ ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารสัญชาติอังกฤษในปี ค.ศ. 1878 ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างสูง ต่อมาตีพิมพ์เป็นหนังสือในปี ค.ศ. 1879 จนทำให้ชื่อของเฮนรี เจมส์เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ในปี ค.ศ. 1974 และดัดแปลงเป็นบทละครวิทยุเพื่อถ่ายทอดทางคลื่นบีบีซีของประเทศอังกฤษในปี ค.ศ. 2017 เดย์ซี มิลเลอร์ เป็นบทประพันธ์ที่ถูกนำไปศึกษาในหลากหลายมิติ ตั้งแต่วิธีการประพันธ์ซึ่งเป็นแบบอย่างให้กับวรรณกรรมอื่นๆ ต่อมา การวิเคราะห์และเรียนรู้ถึงสภาพสังคม เชื้อชาติ ความแตกต่างทางค่านิยมและวัฒนธรรม สิทธิและบทบาทของสตรีในยุคสมัย ฯลฯ แน่นอนว่าชื่อตัวละคร เดย์ซี มิลเลอร์ ยังคงเป็นที่กล่าวถึงด้วยว่าบทบาทของตัวละครยังคงเชื่อมโยงกับโลกปัจจุบันได้อย่างดีแม้ว่าเวลาจะผ่านมากว่าร้อยปีก็ตาม
หนังสือเล่มนี้เป็นวรรณกรรมแปลอันดับแรกในชุด The 19th C. Story ที่ไลบรารี่ เฮ้าส์คัดสรรนวนิยายอังกฤษและอเมริกันขนาดสั้นจากศตวรรษที่ 19 ตั้งแต่ช่วงต้น กลาง และปลายยุคสมัยมาให้นักอ่านได้ย้อนเวลากลับไปดื่มด่ำความรื่นรมย์แห่งชีวิตแบบเรียลิสต์ เมื่อร้อยกว่าปีก่อน กับตัวละครต้นเรื่องหรือ Title character – หัวใจสำคัญ
Orlando: A Biography
ผู้เขียน เวอร์จิเนียร์ วูล์ฟ ผู้แปล จุฑามาศ แอนเนียน
บรรณาธิการต้นฉบับ สุนันทา วรรณสินธ์ เบล
ผู้ออกแบบปก Wonderwhale
จำนวน 344 หน้า ราคาปกอ่อน 400 บาท ราคาปกแข็ง 550 บาท
ปีที่พิมพ์ 5 ตุลาคม 2561
ISBN ปกอ่อน 978-616-8123-21-8
ISBN ปกแข็ง 978-616-8123-20-1
“ออร์แลนโด” คือนามของบุคคลไร้ขอบเขตตัวตน ดำรงอยู่อย่างไร้กาล ก้าวข้ามอิสระแห่งเพศและอัตลักษณ์ กลายสภาพไปตามยุคสมัยแห่งประวัติศาสตร์ ครอบครองเสรีภาพในตัวตนเหนือความจริง ธรรมชาติและจินตนาการทั้งปวง
ชีวประวัติเล่มนี้บันทึกไว้ว่า ออร์แลนโด เริ่มต้นชีวิตในศตวรรษที่ 16 ยุคสมัยของควีนอลิซาเบธที่หนึ่งแห่งอังกฤษและไอร์แลนด์ ในฐานะขุนนางหนุ่มสูงศักดิ์วัยสิบหกปี ภาพลักษณ์สุภาพบุรุษเปี่ยมเสน่ห์และสง่างามทำให้ออร์แลนโดพานพบหญิงมากมายและเกือบลงเอยกับคู่หมายหากไม่เกิดเรื่องอื้อฉาวกับเจ้าหญิงจากคณะทูตแห่งรัสเซีย เมื่อความสัมพันธ์นั้นผิดไปจากที่วาดฝัน เขาผันความสนใจสู่บทกวี มอบวันและคืนอันปวดร้าวให้กับการประพันธ์แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ออร์แลนโดตัดสินใจหันหลังให้ชีวิตที่อังกฤษไปรับตำแหน่งทูตอังกฤษประจำกรุงคอนสแตนติโนเปิล วันหนึ่งหลังจากหลับเหมือนตายแล้วตื่นขึ้นมาในตอนเช้า ออร์แลนโดพบว่าตัวเองได้กลายเป็นผู้หญิงและข้ามเวลาไปสู่ศตรวรรษที่ 18 ออร์แลนโดรับรู้ตัวตนและไม่ได้แปลกใจกับการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแม้แต่น้อย ในทางกลับกัน เกิดการเปลี่ยนแปลงกับประเทศอังกฤษบ้านเกิดขึ้นมากมาย กฎเกณฑ์สังคมของยุคสมัยทำให้ต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต แต่เนื้อแท้ที่เปี่ยมจิตวิญญาณอิสระของเธอนั้นยังคงอยู่พร้อมด้วยหัวใจที่มอบให้ชายคนรักและการประพันธ์ ราวกับเวทมนตร์ได้สรรค์สร้างสิ่งมหัศจรรย์อีกครั้งออร์แลนโดปรากฏตัวในศตวรรษที่ 20 เป็นหญิงวัย 36 ปี ที่ยังดำรงอยู่และผสมผสานส่วนต่างๆ ของความทรงจำและความจริง เรียนรู้ชีวิตเพื่อกระโจนสู่ท้องฟ้ากว้างและแสงสว่างของวันใหม่ต่อไป
ออร์แลนโด: ชีวประวัติ เป็นนวนิยายที่เขียนในรูปแบบชีวประวัติ ผู้เล่าเรื่องหรือในที่นี้คือผู้เขียนหนังสือทำหน้าที่เป็นบุรุษที่สามเฝ้าดูชีวิต บันทึกเหตุการณ์ เก็บข้อมูลจากเอกสารส่วนตัวและเป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ของออร์แลนโดให้ผู้อ่านตีความจากข้อเท็จจริงนั้นด้วยตนเอง ถ่ายทอดด้วยกลวิธีการเขียนและความงดงามของภาษาที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย นำพาผู้อ่านท่องผ่านกาลเวลากว่า 5 ศตวรรษ
ออร์แลนโด: ชีวประวัติ หรือ ORLANDO: A BIOGRAPHY ถูกตีพิมพ์ในปี ค.ศ.1928 เป็นผลงานที่ถูกกล่าวขานมากที่สุดเล่มหนึ่งของ เวอร์จิเนีย วูล์ฟ นักเขียนหญิงชื่อก้องแห่งอังกฤษ นักประพันธ์ที่โดดเด่นจากวิธีเขียนแบบกระแสสำนึก ถือเป็นหนึ่งในนวนิยายชิ้นเอกของศตวรรษที่ 20 ที่สะท้อนเสรีภาพแห่งอัตลักษณ์ของเพศทางเลือก ความเท่าเทียมและอคติทางเพศของสังคม งานเขียนชิ้นนี้เปรียบดั่งจดหมายรักเพราะวูล์ฟเขียนให้นักเขียนหญิงที่เธอตกหลุมรักเป็นของขวัญ จึงแฝงเร้นร่องรอยชีวิตและความรู้สึกทางใจที่มีต่อกันผ่านถ้อยคำวิจิตรงดงาม นัยยะลึกล้ำ เหนือชั้นด้วยความแพรวพราวทางภาษาอันเป็นความสามารถและพรสวรรค์เยี่ยมยอดของเวอร์จิเนียร์ วูล์ฟ
The Lady in the Looking-Glass: A Reflection and other selected stories.
ผู้เขียน เวอร์จิเนียร์ วูล์ฟ ผู้แปล นราวัลลภ์ ปฐมวัฒน
บรรณาธิการต้นฉบับ อรจิรา โกลากุล
ผู้ออกแบบปก มานิตา ส่งเสริม
จำนวน 81 หน้า ราคาปก 100 บาท
ปีที่พิมพ์ 10 กันยายน 2561 ISBN 978-616-8123-18-8
Selected Short Stories ลำดับที่ 5
สตรีในกระจก: ภาพสะท้อนห้วงคำนึง และเรื่องสั้นคัดสรรอื่นๆ ผลงานการประพันธ์ของ เวอร์จิเนีย วูล์ฟ นักเขียนหญิงชื่อก้องชาวอังกฤษ ได้รับการยกย่องเป็นหนึ่งในนักเขียนที่ยิ่งใหญ่ของศตวรรษที่ 20 ผู้เป็นสัญลักษณ์ของวิธีประพันธ์แบบกระแสสำนึก (Stream of Conciousness) ที่กระเทาะความจริงและความซับซ้อนในจิตใต้สำนึกของมนุษย์
ความสามารถและพรสวรรค์เยี่ยมยอดของเวอร์จิเนียร์ วูล์ฟ ถ่ายทอดเด่นชัดผ่านไวยากรณ์ที่แพรวพราวและลึกซึ้ง เหนือชั้นด้วยกลวิธีการเล่าเรื่องที่ขุดลึกลงไปในความคิด ความรู้สึก และเบื้องหลังชีวิตของมนุษย์ ซึ่งมีผลต่อโลกทัศน์และภูมิทัศน์การอ่านของนักอ่านยุคสมัยใหม่และยังส่งอิทธิพลต่อนักเขียนรุ่นหลังมากมาย เรื่องสั้นที่คัดสรรในหนังสือเล่มนี้คือการส่งเสียงจากกระแสความคิดที่ไร้ขอบเขตจำกัดสู่สภาวะภายนอก ไม่ว่าจะเป็นธรรมชาติ คน สัตว์ สรรพสิ่งน้อยใหญ่ เชื่อมโยงไปจนถึงห้วงเวลา เรื่องสั้นเหล่านี้จะนำพาผู้อ่านสอดประสานตัวตนเข้ากับเรื่องราวเป็นหนึ่งเดียวราวกับอยู่ในสถานการณ์เดียวกันกับตัวละครนั้น แก่นสำคัญของเรื่องสั้นเหล่านี้ คือการวิพากษ์มุมมอง สะท้อนค่านิยมของสังคมที่กดทับสถานะและบทบาทของสตรีอย่างท้าทายและกล้าหาญ
สตรีในกระจก: ภาพสะท้อนห้วงคำนึง และเรื่องสั้นคัดสรรอื่นๆ ประกอบด้วยเรื่องสั้นทั้งหมด 5 เรื่อง คือ
I’d Die for You and other selected stories.
ผู้เขียน เอฟ. สก็อตต์ ฟิตซ์เจอรัลด์ ผู้แปล ณัฐวดี ก้อนทอง
บรรณาธิการต้นฉบับ สุนันทา วรรณสินธ์ เบล
ผู้ออกแบบปก มานิตา ส่งเสริม
จำนวน 168 หน้า ราคาปก 200 บาท
ปีที่พิมพ์ สิงหาคม 2561 ISBN 978-616-8123-17-1
Selected Short Stories ลำดับที่ 4
ตายเพื่อรัก (ตำนานแห่งทะเลสาบลัวร์) และเรื่องสั้นคัดสรรอื่นๆ ผลงานของ เอฟ. สก็อตต์ ฟิตซ์เจอรัลด์ นักเขียนอเมริกันเชื้อสายไอริชผู้ได้รับการยกย่องเป็นหนึ่งในนักเขียนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของศตวรรษที่ 20 จากงานประพันธ์ที่สะท้อนภาพของสังคมอเมริกันชนผู้มั่งคั่งช่วงทศวรรษ 1920 หรือยุคแจ๊ซ (Jazz Age) ได้อย่างแจ่มชัดที่สุดในบรรดางานเขียนยุคสมัยใหม่
ความเป็นเลิศทางวรรณศิลป์ของฟิตซ์เจอรัลด์พิสูจน์ผ่านการยอมรับของนักอ่านมาแล้วนับร้อยปี งานเขียนของเขามักใช้ถ้อยคำลุ่มลึกและงดงาม หากแต่บาดคมราวมีดที่ค่อยๆ กรีดชำแหละเบื้องลึกจิตใจมนุษย์ เรื่องสั้นที่ไลบรารี่ เฮ้าส์คัดสรรเพื่อตีพิมพ์ในเล่มนี้ล้วนสะท้อนค่านิยมตามยุคสมัยและสะท้อนภาพชีวิตจริงของฟิตซ์เจอรัลด์อย่างชัดเจน ทั้งความมีชีวิตชีวา ความเพ้อคลั่ง ความทะเยอทะยาน และแม้กระทั่งความผิดหวังและความล้มเหลว อาจกล่าวได้ว่างานประพันธ์ของฟิตซ์เจอรัลด์คือภาพแทนของมนุษย์คนหนึ่งที่ชีวิตรายล้อมไปด้วยภาพมายาและพยายามแสวงหาความพึงพอใจที่ไม่มีขีดความพอดี
ตายเพื่อรัก (ตำนานแห่งทะเลสาบลัวร์) และเรื่องสั้นคัดสรรอื่นๆ ประกอบด้วยเรื่องสั้นทั้งหมด 5 เรื่อง คือ
Thérèse Desqueyroux
ผู้เขียน ฟร็องซัวส์ โมริยัค ผู้แปล วัลยา วิวัฒน์ศร (แปลจากภาษาฝรั่งเศส)
ผู้ออกแบบปก wrongdesign
จำนวน 158 หน้า ราคาปก 240 บาท
ปีที่พิมพ์ 21 สิงหาคม 2561 ISBN 978-616-8123-16-4
เตแรส เดสเกรูซ์ เดินออกจากห้องพิจารณาความของศาลอาญา หลังพ้นผิดจากข้อกล่าวหาว่าวางยาพิษสามีของตน หล่อนยืนกรานปฏิเสธ ด้านสามีก็ให้การว่าภรรยาของตนไม่ได้ทำ สามีภรรยาคู่นี้รักใคร่กันดี อีกทั้งความสัมพันธ์ของครอบครัวทั้งสองก็ผูกพันแน่นแฟ้น แล้วจะเกิดอาชญากรรมน่าอัปยศแบบนั้นได้อย่างไร...
ทุกคนมองว่าเธอเป็นปีศาจร้ายที่เฝ้าดูสามีของตนดื่มยาพิษนั้นจนล้มป่วยเจียนตาย แต่สามีของเธอต้องให้การอันเป็นเท็จและพ่อของเธอก็ว่าจ้างทนายค่าตัวสูงมาว่าความเพื่อให้เธอพ้นจากมลทินและรักษาเกียรติยศของวงศ์ตระกูล เตแรสเป็นหญิงสาวมีเสน่ห์ เฉลียวฉลาด มีความคิดเป็นของตนเอง แต่การเป็นลูกสาวคนเดียวของตระกูลลาร์ร็อกผู้มั่งคั่งที่สุดของเมือง เธอจึงต้องเป็น ‘ผู้หญิงในตระกูล’ ตามร่องตามรอยที่ครอบครัวขีดเส้นไว้ เตแรสแต่งงานกับแบร์นาร์ด์ เดสเกรูซ์ ชายจากตระกูลร่ำรวยเป็นอันดับสองเพื่อที่ดินของพวกเขาจะได้รวมเป็นผืนเดียวกัน เธอมีชีวิตสุขสมและขมขื่นกับสามีผู้แข็งกระด้าง พวกเดสเกรูซ์เป็นเผ่าพันธุ์ที่ไม่ใส่ใจสิ่งใดนอกจากความทรงเกียรติของตน เตแรสกลายเป็นเมียและแม่ที่เศร้าหมอง ต้องฝืนทนกับบรรยากาศแสนอึดอัดที่ครรลองของสังคมกดข่มเอาไว้ ต้องวางกิริยาไปตามมารยาท และทุกขณะจิตก็ต้องปฏิเสธความเป็นตัวของตัวเอง จนทำให้ชีวิตโอบล้อมไปด้วยความโดดเดี่ยว จิตวิญญาณของเธอค่อยๆ แห้งเหือดและไร้ลมหายใจ
เตแรสรอดพ้นจากโทษทัณฑ์ทางกฎหมาย แต่เธอต้องเก็บตัวอยู่ในบ้านกับสามี เสแสร้งใช้ชีวิตครอบครัวปกติต่อไป นาฏกรรมชีวิตทำให้สถานะของเธอหมิ่นเหม่อยู่ระหว่างการเป็นอาชญากรและเป็นเหยื่อ…
เตแรส เดสเกรูซ์ หรือ Thérèse Desqueyroux (1927) ผลงานของ ฟร็องซัวส์ โมริยัค นักเขียนชาวฝรั่งเศสเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม การเล่าเรื่องราวชั้นยอด แสดงจิตใจอันซับซ้อนและสับสนของมนุษย์ได้อย่างเฉียบขาด ถ่ายทอดบรรยากาศเศร้าหมองของฉากในเรื่องซึ่งโอบล้อมด้วยทิวทัศน์ป่าสนในชนบทแคว้นลองด์ ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นบ้านเกิดของโมริยัค Thérèse Desqueyroux ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ถึงสองครั้ง คือในปี ค.ศ. 1962 และ 2012 วรรณกรรมเล่มนี้แปลจากภาษาฝรั่งเศส โดย วัลยา วิวัฒน์ศร นักแปลชั้นครูผู้ฝากผลงานการแปลเรื่อง มาตา (Génitrix) ผลงานของ ฟร็องซัวส์ โมริยัค ซึ่งไลบรารี่ เฮ้าส์จัดพิมพ์เมื่อปี ค.ศ. 2015
The Breast
ผู้เขียน ฟิลิป ร็อท ผู้แปล บัญชา สุวรรณานนท์
ผู้ออกแบบปก Wonderwhale
จำนวน 88 หน้า ราคาปก 170 บาท
ปีที่พิมพ์ 10 กรกฎาคม 2561 ISBN 978-616-8123-15-7
“มันเริ่มขึ้นมาอย่างพิลึก” เดวิด เคเพช ตัวเอกของเรื่องนี้บอกกับเราแบบนั้น และถูกต้องที่สุด นี่คือเรื่องราวพิลึกพิลั่นที่สุดเรื่องหนึ่งที่คุณจะได้อ่าน เรื่องของคนกลายร่างเป็นนม ใช่แล้ว...นม คุณอ่านไม่ผิดหรอก “เต้านม” นี่ละ!
เรื่องราวของ เดวิด แอลลัน เคเพช ศาสตราจารย์วิชาวรรณคดีในมหาวิทยาลัย มีชีวิตดี การงานดี ชีวิตคู่ดี เป็นคนหนุ่มวัย 38 ปีที่ร่างกายกำยำแข็งแรง แต่กลับมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นกับร่างกาย เขารู้สึกซ่าๆ ยิบๆ คล้ายเป็นเหน็บบริเวณขาหนีบ ไม่นานนักผิวใต้ขนตรงของลับก็เป็นสีชมพูเรื่อๆ ก่อนจะกลายเป็นสีแดงและผิวบริเวณองคชาตินั้นรับสัมผัสได้อย่างฉับไว ความกระสันทางเพศรุนแรงขึ้น กิจกรรมทางเพศกับภรรยาก็กลับมาเปี่ยมสุขอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เมื่อลืมตาตื่นมาในเช้าวันหนึ่ง เขาก็ได้กลายร่างเป็นเต้านมผู้หญิงขนาด 6 ฟุต หนัก 155 ปอนด์ เป็นเต้านมกลมๆ ไม่มีแขนขา ไม่มีหัว แต่ยังมีระบบภายในของมนุษย์ที่เอื้อให้มีชีวิตอยู่ได้ เดวิดต้องอยู่ในห้องพิเศษทางการแพทย์เพื่อการศึกษาและเฝ้าระวังในโรงพยาบาลภายใต้สายตาของแพทย์และพยาบาลตลอดเวลา เขาอยากจะเป็นบ้า อยากคลุ้มคลั่ง โวยวายอาละวาดแต่ก็ทำไม่ได้ สภาพที่ช่วยตัวเองไม่ได้โดยสิ้นเชิงและมองไม่เห็นสร้างความอึดอัด หมกมุ่น วิตกจริต และหดหู่ในชะตากรรมของตนเองที่ไม่ต่างอะไรกับตัวละครในวิชาวรรณคดีที่เขาสอน อย่างเกรเกอร์ ซัมซาที่กลายเป็นแมลง หรือ Kovalyov ที่เป็นจมูก เขาต้องต่อสู้กับลักษณะทางกายภาพ ความปรารถนาทางเพศแสนพิเรนทร์ และเผชิญกับพฤติกรรมน่ากระอักกระอ่วนจากคนรอบข้าง ทั้งหมอ พ่อ ภรรยา หรือเพื่อนร่วมงานที่ต่างก็พยายามช่วยเหลือเขา ซึ่งกลายเป็นการสร้างความโดดเดี่ยว แปลกแยกและน่าเวทนาต่อตัวเอง แต่กระนั้นเดวิดก็ใช้สติและแรงใจในการมองโลก พยายามเยียวยาตนเองจากอาการ “นมๆ” นี้อย่างสุดความสามารถ
นม หรือ THE BREAST ผลงานนวนิยายขนาดสั้นของ ฟิลิป ร็อท (Philip Roth) นักเขียนชาวอเมริกันเชื้อสายยิวร่วมสมัยที่ได้รับรางวัลและเกียรติยศจากสถาบันด้านวรรณกรรมต่างๆ นับไม่ถ้วน รวมถึงรางวัลพูลิตเซอร์ ปี 1998 ซึ่งเพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาด้วยวัย 85 ปี งานเขียนชิ้นนี้ตีพิมพ์ในปี 1972 ผู้เขียนสร้างสรรค์งานอย่างมีชั้นเชิง ซ่อนสัญลักษณ์และนัยยะอย่างแยบยล แฝงปรัชญาไว้อย่างจัดจ้าน ซึ่งจะพาผู้อ่านก้าวข้ามความมีอารยธรรมไปกับวิสัยทัศน์ทางกายภาพและความปรารถนาทางเพศที่เกินขอบเขตจินตนาการ ย้อนมองเนื้อแท้ในจิตสำนึกของมนุษย์ ซึ่งสร้างความสนุก ขบขัน เย้ยหยันและพิลึกเหลือที่จะกล่าว
Amerika
ผู้เขียน ฟรันซ์ คาฟคา ผู้แปล ถนอมนวล โอเจริญ (แปลจากภาษาเยอรมัน)
ผู้ออกแบบปก มานิตา ส่งเสริม
จำนวน 298 หน้า ราคาปก 320 บาท
ปีที่พิมพ์ 1 มิถุนายน 2561 ISBN 978-616-8123-11-9
คาร์ล รอสมันน์ เด็กหนุ่มชาวเยอรมันอายุ 16 ปี ถูกพ่อแม่ส่งตัวข้ามน้ำข้ามทะเลเพื่อหนีเรื่องอื้อฉาวไปยังประเทศอเมริกา โดยหวังว่าการเริ่มต้นใหม่บนดินแดนทันสมัยและร่ำรวยแห่งนี้จะทำให้เขามีชีวิตที่ดีขึ้น ขณะที่เรือกำลังเทียบท่ามหานครนิวยอร์ค คาร์ลได้พบกับช่างเครื่องของเรือผู้น่าสงสาร ในเหตุการณ์ที่เขากำลังช่วยต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมให้ช่างเครื่องนั้น ทำให้คาร์ลได้พบกับลุงแท้ๆ ของตน ชื่อว่ายาคอบ ซึ่งมีตำแหน่งเป็นถึงวุฒิสมาชิก การได้พบและอยู่อาศัยกับลุงยาคอบนั้นทำให้คาร์ลกลายเป็นคนโชคดีโดยแท้ ลุงดูแลเขาอย่างดี ตามใจทุอย่าง จ้างครูมาสอนภาษาอังกฤษถึงบ้าน ส่งเสริมให้เรียนดนตรี และคอยสอนเรื่องธุรกิจกับชีวิตให้เสมอ
แต่แล้ววันหนึ่ง การที่เขาไม่เชื่อฟังลุงทำให้เขาถูกขับไล่ออกจากบ้านไปเผชิญโชคชะตาด้วยตนเอง ระหว่างทางคาร์ลเข้าพักในโรงแรมร่วมห้องกับนายเดอลามาร์ชและนายโรบินสัน คู่ซี้พเนจรชวนคาร์ลไปหางานทำ แต่เขาก็ถูกคนทั้งสองกลั่นแกล้งและเอาเปรียบจนต้องหนีในที่สุด เมื่อได้งานที่โรงแรมก็ถูกไล่ออกเพราะมีปัญหากับผู้มีตำแหน่งสูงกว่าในโรงแรม โชคชะตานำเขากลับมาพบกับเดอลามาร์ชและโรบินสันอีกครั้ง หนนี้ทั้งสองชักชวนคาร์ลมาทำงานและพักอาศัยกัับสตรีผู้ร่ำรวยนามว่าบรูเนิลดา ที่นั่น คาร์ลต้องรับใช้และอยู่อย่างไร้ศักดิ์ศรี และแล้วคาร์ลก็มีโอกาสได้ทำงานกับคณะโรงละครกลางแจ้งโอคลาโฮมา ณ ที่นั่น ไม่มีผู้ใดทราบว่าบทสรุปว่าชีวิตของคาร์ล รอสมันน์จะดำเนินต่อไปเช่นไร
คาฟคาเขียนเรื่องนี้ด้วยอารมณ์เล่าที่แสดงความโดดเดี่ยว ไร้อำนาจ แปลกแยก สับสน และเป็นเหยื่อของเหตุการณ์ ในที่นี้คือเด็กหนุ่มชาวยุโรปคนหนึ่งที่ย้ายถิ่นฐานไปอยู่ประเทศอเมริกา ในตอนแรกเขาได้รับโอกาสและการยอมรับจากสังคม แต่ไม่นานเด็กหนุ่มที่ยึดมั่นในแนวทางชีวิตดั้งเดิมและการไม่เข้าใจความเป็นจริงที่เขากำลังประสบอยู่ทำให้เขาขาดความสัมพันธ์กับคนในสังคมและเพิกเฉยต่อแนวปฏิบัติของสังคม สุดท้ายจึงถูกขับไล่ บีบให้กลายเป็นคนนอกและผลักไสให้ตกต่ำลงซ้ำแล้วซ้ำเล่า
อเมริคา (ชายผู้สาบสูญ) หรือ AMERIKA (Der Verschollene) ผลงานของฟรันซ์ คาฟคา นักเขียนชาวเช็กผู้ยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษที่ 20 เขียนขึ้นระหว่าง ค.ศ.1911 ถึง ค.ศ.1914 เป็นนวนิยายเรื่องแรกแต่คาฟคาเขียนไว้ไม่สมบูรณ์ หลังจากที่คาฟคาถึงแก่กรรม มักซ์ โบร็ท เพื่อนสนิทของเขาได้นำเนื้อหามาจัดลำดับบทใหม่และนำออกตีพิมพ์ในปี ค.ศ.1927 ตั้งชื่อว่า Amerika แต่ภายหลังพบว่าคาฟคาได้ตั้งชื่อนวนิยายเรื่องนี้ไว้ว่า ชายผู้สาบสูญ หรือชื่อภาษาเยอรมันคือ Der Verschollene
วรรณกรรมแปลเล่มนี้ได้รับทุนสนับสนุนการแปลจากสถาบันเกอเธ่ สำนักงานใหญ่ เมืองมิวนิก ประเทศเยอรมนี