หัวใจแห้งผาก (È stato così)
นาตาเลีย กินสเบิร์ก (Natalia Ginzburg) เขียน
สิรีธร ถาวรปิยกุล แปลจากภาษาอิตาลี
อัมรา ผางน้ำคำ และ สิริพร คดชาคร บรรณาธิการต้นฉบับ
สิริพร คดชาคร พิสูจน์อักษร
Mongol Navy ออกแบบปก
นิรมล ยาตพงศ์ ออกแบบรูปเล่ม
ราคาปก 240 บาท จำนวน 96 หน้า พิมพ์ครั้งแรก กรกฎาคม 2567
ISBN 978-616-8343-07-4
โปรยปก
ในทุกความสัมพันธ์ สิ่งที่หล่อเลี้ยงหัวใจไม่ใช่อากาศหรือเลือด แต่เป็นความรักอันจริงแท้และการทะนุถนอมดูแลเพื่อให้ต่างฝ่ายต่างเข้าถึงห้วงความรู้สึกในใจของอีกคน ‘หัวใจแห้งผาก’ คือก้อนเนื้อในอกของผู้หญิงคนหนึ่งที่มอบความรักให้กับคนที่ไม่ควรถูกรัก คือความพยายามที่เธอต้องเลี้ยงดูฟูมฟักผลผลิตของความสัมพันธ์อันลึกซึ้ง และคือผลพวงของการรับรู้เรื่องราวลับหลังซึ่งเสมือนเป็นหอกแหลมทิ่มแทงทั้งร่างและใจเธอทุกวี่วัน
หัวใจแห้งผาก (1947) นวนิยายขนาดสั้นของนาตาเลีย กินสเบิร์ก (1916 – 1991) นักเขียนชาวอิตาลี เจ้าของรางวัล Premio Strega ปี ค.ศ. 1963 และ Premio Bagutta ปี ค.ศ. 1984 บอกเล่าความร้าวรานของหัวใจผู้หญิงที่พยายามรัก พยายามประคับประคองทุกอย่างที่สามารถยึดโยงความสัมพันธ์ แต่สุดท้ายก็ไม่อาจต้านทานขีดจำกัดของคำว่าอดทน
เกี่ยวกับผู้เขียน
นาตาเลีย กินสเบิร์ก (1916 – 1991) จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยตูริน ประเทศอิตาลี เป็นนักประพันธ์ที่สนใจประเด็นความขัดแย้งในครอบครัว ศาสตร์ด้านปรัชญาและการเมือง รวมทั้งปรากฏการณ์ทางสังคม โดยเฉพาะผลกระทบที่มหาสงครามมีต่อผู้คนบนโลก กินสเบิร์กมีผลงานตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1942 โดยใช้นามแฝงว่า “ Alessandra Tornimparte” และมีชื่อเสียงโด่งดังจากผลงานจำนวนมากที่เธอรังสรรค์ขึ้นมาอย่างต่อเนื่องในช่วงทศวรรษที่ 50-60 กินสเบิร์กได้รับรางวัลทางวรรณกรรมอันทรงเกียรติและเก่าแก่ถึงสองรางวัล นั่นคือรับ Premio Strega เมื่อปี ค.ศ. 1963 และ Premio Bagutta เมื่อปี ค.ศ. 1984 นวนิยายขนาดสั้น หัวใจแห้งผาก (È stato cosí,1947) เล่มนี้แสดงให้เห็นกลวิธีการเล่าเรื่องเกี่ยวกับความสัมพันธ์ฉันสามีภรรยาด้วยถ้อยคำเรียบง่ายแต่ลึกซึ้งคมคาย และแฝงความนัยไว้ในช่องว่างระหว่างบรรทัดจนทำให้การอ่านเป็นประสบการณ์ที่วิเศษ
ผงคลีดินหนึ่งฟายมือ (A Handful of Dust)
อีฟวลิน วอห์ (Evelyn Waugh) เขียน
บัญชา สุวรรณานนท์ แปลจากภาษาอังกฤษ
สุนันทา วรรณสินธิ์ เบล บรรณาธิการต้นฉบับ
สุภัควดี ทวีชัย พิสูจน์อักษร
Mongol Navy ออกแบบปก
นิกม์ จินตวร ออกแบบรูปเล่ม
ราคาปก 340 บาท จำนวน 294 หน้า พิมพ์ครั้งแรก กรกฎาคม 2567
ISBN 978-616-8343-06-7
โปรยปก
นวนิยายเล่มนี้คือการเผชิญหน้ากับชะตากรรมและวิบากกรรมของโทนี ลาสต์ เจ้าของคฤหาสน์สไตล์โกธิคหลังงามในเขตชนบทของอังกฤษ เมื่อแบรนดาภรรยาของเขากับจอห์นลูกชายของทั้งคู่มีอันต้องจากเป็นและจากตาย โทนีจึงหมดอาลัยกับทุกสิ่งและละทิ้งทุกอย่างเพื่อเดินทางสู่ทวีปอเมริกาใต้ โบกมือลาสังคมผู้ดีหรูหราซึ่งเพียบพร้อมไปด้วยเงินตราชื่อเสียง สู่สิ่งแวดล้อมแปลกใหม่ แต่กลับต้องไปตกอยู่ในสถานการณ์ที่กลืนไม่ได้ หากจะคายก็คายไม่ออก เวลาผ่านไปแรมปี มีเพียงคำบอกเล่าร่ำลือกันไป ว่าสุดท้าย เขากลายเป็นเนื้อหนึ่งเดียวกับผืนดินแห่งป่าแอมะซอน
ผงคลีดินหนึ่งฟายมือ (1934) นวนิยายคลาสสิกจากอังกฤษ สะท้อนภาพผู้คนในยุคสมัยด้วยน้ำเสียงเสียดสีอย่างแสบสัน เปิดประเด็นเรื่องการให้คุณค่ากับตัวตน ผลพวงของกับดักที่เรียกว่าสถานะทางสังคม ความชอกช้ำในจิตใจ การพยายามหาทางออกอย่างสับสนทุรนทุราย ความตระหนักและความเพิกเฉยต่อจริยธรรม และการกระทำที่นำไปสู่จุดสุดท้าย นั่นคือ วันที่ต้องมีดินหนึ่งฟายมือกลบลมหายใจแห่งชีวิต
เกี่ยวกับผู้เขียน
อีฟวลิน วอห์ (1903 – 1966) เกิดที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เป็นนักประพันธ์นวนิยายและนักเขียนชีวประวัติ วอห์เคยเป็นครูสอนหนังสือในโรงเรียนก่อนผันตัวมาเป็นนักเขียนเต็มตัว จากประสบการณ์ที่เคยร่วมรบในกองทัพอังกฤษสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง สังคมปัญญาชนที่วอห์เคยคลุกคลี รวมทั้งงานเขียนด้านชีวประวัติ ทำให้ลักษณะเด่นในนวนิยายของเขาคือการเปิดเผยเนื้อแท้ของผู้คนจำนวนมากและหลากหลาย โดยนำเสนอให้อารมณ์โดยรวมเป็นไปในทางขบขัน มีน้ำเสียงเสียดสีและประชดประชัน วอห์ได้ชื่อว่าเป็นนักเขียนอังกฤษคนสำคัญอีกคนหนึ่งแห่งศตวรรษที่ยี่สิบ ผงคลีดินหนึ่งฟายมือ หรือ A Handful of Dust (1934) เป็นผลงานยุคแรกของวอห์ ซึ่งนวนิยายเล่มนี้ได้บรรจุเสี้ยวส่วนจากชีวิตจริงของเขาตั้งแต่บทแรกๆ จนถึงบทสุดท้าย
จิตรกรพลัดถิ่นกับหมู่มวลปักษา (O Vale da Paixão)
ลิเดีย จอร์จ (Lídia Jorge) เขียน
ลัลน์ลลิต สมานุหัตถ์ แปลจากภาษาโปรตุเกส
สุนันทา วรรณสินธิ์ เบล บรรณาธิการต้นฉบับ (ตรวจเทียบกับภาษาอังกฤษ)
สุภัควดี ทวีชัย พิสูจน์อักษร
Wonderwhale ออกแบบปกและรูปเล่ม
ราคาปก 340 บาท จำนวน 216 หน้า พิมพ์ครั้งแรก กรกฎาคม 2567
ISBN 978-616-8343-08-1
โปรยปก
บางครั้งสิ่งที่ยืนยันการดำรงอยู่ของบางคนในความทรงจำของอีกคน อาจเป็นภาพวาด กระบอกปืน ผ้าห่มผืนเก่า และเรื่องเล่าจากคนอื่นๆ เหมือนกับที่ “ฉัน” เก็บเกี่ยวภาพจำของพ่อ – หรืออา – ผ่านสายตาของปู่ ลุง แม่ และคนงานในไร่ “ฉัน”มีภาพจำมากมายจนการอยู่ใต้ชายคาเดียวกันกับเขากลายเป็นสิ่งไม่จำเป็น “ฉัน”เก็บทุกอย่างเกี่ยวกับเขาไว้ในความจริงที่ได้ยินและจินตนาการที่ได้นึก เขาคือผู้ชายที่ออกจากบ้านแล้วเร่ร่อนไปตามเมืองน้อยใหญ่เกือบทั่วโลก เขาคือคนที่กลับมาในคืนฝนตก และเป็นเจ้าของจดหมายกับอัลบัมภาพนกที่ส่งมาให้แม่…
จิตรกรพลัดถิ่นและหมู่มวลปักษา (1998) ชีวิตที่โบยบินของลูกชายคนเล็กแห่งตระกูลดีอาชในสายตาของลูก – หรือหลานสาว – กำจายกลิ่นอายแห่งแรงปรารถนาเพื่อให้ได้มาซึ่งความเสรี สยายปีกอันเปราะบางของคนไม่อาจทานทนกับแรงกดทับ และเป็นภาพวาดของกิเลสตัณหาที่ไม่เคยกรุณาชะตาชีวิตของมนุษย์
นวนิยายอันอุดมด้วยเชิงชั้นของลิเดีย จอร์จ นักประพันธ์ร่วมสมัยคนสำคัญของโปรตุเกส
เกี่ยวกับผู้เขียน
ลิเดีย จอร์จ เกิดเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน ค.ศ. 1946 ในครอบครัวชาวนา จบการศึกษาด้านอักษรศาสตร์จากมหาวิทยาลัยลิสบอน งานเขียนของเธอได้รับการยอมรับจากผู้อ่านและคนในวงการวรรณกรรมโปรตุเกสว่าเป็นตัวแทนของยุคหลังปฏิวัติได้อย่างชัดเจน เพราะมีเนื้อหาเกี่ยวกับการอพยพย้ายถิ่นฐาน การพลัดพรากของคนในครอบครัว ความหมายของการเปลี่ยนแปลงและพัฒนา ความขัดแย้งระหว่างโลกเก่ากับโลกใหม่ นวนิยายและเรื่องสั้นของจอร์จได้รับรางวัลอันทรงเกียรติทางวรรณกรรมนับไม่ถ้วน มีการแปลไปหลายภาษา ถือได้ว่าเธอคือบุคคลสำคัญด้านวรรณศิลป์และประวัติศาสตร์สังคมของโปรตุเกสที่ควรค่าแก่การทำความรู้จัก
สรรพสิ่งร่วงหล่นมาจากท้องฟ้า (TAIVAALTA TIPPUVAT ASIAT)
เซลยะ อะฮะวะ (Selja Ahava) เขียน
วิกานดา คงปรัชญา ติโมเนน แปลจากภาษาฟินแลนด์
นันทพร ปีเลย์ โพธารามิก บรรณาธิการต้นฉบับ
สุภัควดี ทวีชัย พิสูจน์อักษร
มานิตา ส่งเสริม ออกแบบปก
ราคาปก 320 บาท จำนวน 232 หน้า ISBN 978-616-8343-05-0
พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2567
โปรยปกหลัง
หลายคนปักใจเชื่อว่าสิ่งต่างๆ บนโลกใบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ สรรพสิ่งที่มีอยู่และสูญหายไปล้วนมีเหตุผลของมัน แต่ก็มีคนประสบกับเหตุการณ์อันประเหมาะเคราะห์ดีหรือเคราะห์ร้ายอย่างเหลือเชื่อจนน่าคลางแคลงสงสัย และมีคนจำนวนมากมายที่อยากได้คำตอบว่า ทำไมเรื่องราวเหล่านั้นถึงเหมือนถูกจับวางให้เจาะจงเกิดกับตัวเอง
สรรพสิ่งร่วงหล่นมาจากท้องฟ้า (2015) เรื่องราวของเด็กหญิงคนหนึ่งผู้หมกมุ่นกับเรื่องเวลาและการขีดเส้นสีขาวล้อมตามรูปร่างคน เธอสูญเสียแม่ด้วยอุบัติการณ์ระดับหนึ่งในหลายล้านจากฟากฟ้า และต้องไปอยู่กับป้าผู้มีโชคอภิมหาศาลหล่นทับ
นวนิยายจากฟินแลนด์เล่มนี้ได้รับรางวัล The European Union Prize for Literature ประจำปี 2016 มีการแปลเผยแพร่แล้ว 25 ภาษา ทำให้เป็นที่ยอมรับว่าเป็นวรรณกรรมฟินแลนด์ร่วมสมัยที่แพร่หลายทั้งในและต่างประเทศมากที่สุดเล่มหนึ่ง
เกี่ยวกับผู้เขียน
เซลยะ อะฮะวะ เกิดเมื่อปี ค.ศ. 1974 จบการศึกษาด้านการเขียนบทจากสถาบันการละครแห่งเฮลซิงกิ มีประสบการณ์การทำงานในแวงวงละครวิทยุ ละครเวที และภาพยนตร์ อะฮะวะเคยได้รับทุนสนับสนุนจาก The Laila Hirvisaari Foundation เพื่อการเขียนวรรณกรรม และด้วยความสามารถกับประสบการณ์การเขียนที่สั่งสมมาตลอดยี่สิบกว่าปี ทำให้ผลงานของอะฮะวะได้รับการเสนอชื่อเข้ารับรางวัลใหญ่ในประเทศฟินแลนด์มากมาย แต่รางวัลที่ทำให้ชื่อเสียงของเธอกว้างไกลเป็นที่รู้จักมากขึ้นคือ The European Union Prize for Literature (EUPL) ซึ่งมอบแด่ Taivaalta tippuvat asiat (2015) หรือ สรรพสิ่งร่วงหล่นมาจากฟากฟ้า เล่มนี้
ปริศนาช่างจุลศิลป์ (The Miniaturist)
เจสซี เบอร์ตัน (Jessie Burton) เขียน
รสวรรณ พึ่งสุจริต แปลจากภาษาอังกฤษ
ไอริสา ชั้นศิริ บรรณาธิการต้นฉบับ
สิริพร คดชาคร พิสูจน์อักษร
Mongol Navy ออกแบบปก
นิกม์ จินตวร ออกแบบรูปเล่ม
ราคาปก 490 บาท จำนวน 512 หน้า ISBN 978-616-8343-08-1
พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2567
โปรยปกหลัง
เพโทรเนลลา ออร์ตมัน ย้ายจากเมืองเล็กๆ เข้ามาอยู่ที่อัมสเตอร์ดัมในฐานะภรรยาของพ่อค้าวาณิช โยฮันเนส บรันต์ เนลลาต้องเจอกับผู้คนที่ดูมีลับลมคมในและบรรยากาศของบ้านชวนสงสัยตั้งแต่แรกก้าวเข้าไปอยู่ หลายครั้งสถานะของภรรยาและศักดิ์ศรีแห่งความเป็นนายหญิงที่ได้จากการสมรสเป็นเพียงอากาศ มองไม่เห็นด้วยตาแต่พอสัมผัสได้ว่ามีอยู่น้อยหนึ่งเพียงให้ประคองใจ ทุกคืนวันของเนลลาผ่านไป ด้วยสำนึกถึงหน้าที่สนับสนุนภารกิจการงานของประมุขครอบครัว
อาณาจักรการค้ายิ่งใหญ่ที่โยฮันเนส บรันต์ สร้างขึ้น ก่อคุณูปการแก่อัมสเตอร์ดัมมหาศาล เขามีบารมีมากมายและเป็นที่พึ่งพิงให้แก่บริวารที่อยู่ไกลและใกล้… แต่แล้วเหมือนสายฟ้าฟาดลงกลางทะเลลึก ชีวิตของทุกคนในบ้านถูกลิขิตด้วยเรื่องเล่าของ ‘ช่างจุลศิลป์’ ลึกลับ สำแดงผ่านข้าวของจำลองหรืองานประดิษฐ์ชิ้นจ้อยที่เรียกว่าบ้านตุ๊กตา
‘ปริศนา’ ต่างๆ ที่มาพร้อมบ้านน้อยหลังนี้มีทั้งเสียงร้องไห้จ้าของทารก การเสพสมผิดความเชื่อทางศาสนา การต้องหลีกหนีให้พ้นหน้า กระทั่งการได้ตระหนักว่าความรักความหลงใหลในจิตใจมนุษย์ มิเคยมีสิ่งใดขวางกั้นได้ และความตายก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของกระแสน้ำแห่งชีวิตที่ไหลมาสู่เราได้ทุกเมื่อเชื่อวัน
ปริศนาช่างจุลศิลป์ นวนิยายเรื่องดังของเจสซี เบอร์ตัน พาคุณย้อนเวลาสู่อัมสเตอร์ดัมเมื่อเกือบสี่ร้อยปีก่อน ได้สัมผัสงานจุลศิลป์แสนวิจิตร รับกลิ่นอายทะเลแสนล้ำค่า ก้าวไปตามเส้นทางแห่งความรุ่งโรจน์ และลอบรู้ความลับที่ซ่อนอยู่หลังประตูเล็กบานนั้น…
เกี่ยวกับผู้เขียน
เจสซี เบอร์ตัน เกิดเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ค.ศ. 1982 ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เป็นนักเขียนที่ยังมีผลงานน้อยเล่ม แต่ทุกเล่มได้รับการตอบรับจากนักอ่านอย่างล้นหลาม ขึ้นทำเนียบหนังสือขายดีเป็นเวลายาวนาน มีการแปลมากกว่า 40 ภาษา ปริศนาช่างจุลศิลป์ หรือ The Miniaturist ตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ. 2014 เป็นงานเขียนเล่มแรกของเบอร์ตันซึ่งทำให้เธอกลายเป็นดาวเด่นค้างฟ้า วัดได้จากยอดขายระดับล้านเล่มทั่วโลกจวบจนถึงทุกวันนี้
วุธเธอริง ไฮตส์
(Wuthering Heights)
เอมิลี บรองเต้ เขียน
ปทุมจิต อธิคมกมลาศัย แปล
สุนันทา วรรณสินธ์ เบล บรรณาธิการต้นฉบับ
มานิตา ส่งเสริม ออกแบบปก
ปกอ่อน มีสายคาด
พิมพ์ครั้งที่ 2: มีนาคม 2567
เลขมาตรฐานสากลประจำหนังสือ 978-616-8343-03-6
ราคาปก 390 บาท
วุธเธอริง ไฮตส์ เรื่องราวความรักระหว่างฮีธคลิฟฟ์กับแคทเธอรีน เอิร์นชอว์ แห่งคฤหาสน์ “วุธเธอริง ไฮตส์” ไม่อาจมีสิ่งใดพรากทั้งสองจากกันได้ แม้คืนวันเนิ่นนานผันผ่าน สายลมจะกระโชกแรง สายฝนสาดซัดกระหน่ำ หิมะเหน็บหนาว ดินแล้งแตกระแหงชวนเจ็บช้ำ หรือกระทั่งความตายมากรายกล้ำ ทั้งคู่ยังผูกพันดุจวิญญาณดวงเดียวกันมิวางวาย “วุธเธอริง ไฮตส์” ปฐมภูมิแห่งความรักรุนแรง ความลุ่มหลง แรงแค้น และกำเนิดของปีศาจที่ซ่อนอยู่ในมุมมืดของหัวใจมนุษย์ เพชรน้ำเอกแห่งวรรณคดีอังกฤษ งานประพันธ์เพียงเรื่องเดียวของเอมิลี บรองเต้ ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1847
เอมิลี บรองเต้ เกิดในมณฑลยอร์กเชอร์ซึ่งเป็นที่ราบสูงทางตอนเหนือของอังกฤษ ภูมิทัศน์ที่มีภูเขาสลับซับซ้อน อากาศหนาวเหน็บและกระแสลมแปรปรวน ได้ส่งอิทธิพลต่อภาษาที่รังสรรค์ Wuthering Heights (1847) งานประพันธ์เพียงเล่มเดียวของเธอเป็นอย่างมาก บุคลิก การแสดงออก ถ้อยคำวาจาของตัวละครที่ปรากฏในนวนิยายเล่มนี้จึงมีลักษณะวูบไหว โหดร้าย รุนแรง ลึกลับ ประเมินการณ์ได้ยาก แต่เหนือสิ่งอื่นใด ทุกคนถือมั่นกับความรักและมีความสัตย์ต่อหัวใจตนจนมิอาจปฏิเสธได้ นับเป็นนวนิยายล้ำค่าแห่งอังกฤษที่ผ่านกาลเวลามาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 จนกลายเป็นมรดกทางวรรณกรรมที่สำคัญยิ่งอีกชิ้นหนึ่งของโลก
ดวงตาสีฟ้าสุดฟ้า (The Bluest Eye)
โทนี มอร์ริสัน เขียน
จุฑามาศ แอนเนียน แปล
สุนันทา วรรณสินธ์ เบล บรรณาธิการต้นฉบับ
Wonderwhale ออกแบบปก
ปกอ่อน พิมพ์ครั้งที่ 2: มีนาคม 2567
เลขมาตรฐานสากลประจำหนังสือ978-616-8343-04-3
ราคาปก 320 บาท
"ถ้าอย่างนั้นก็แย่จังเลยนะ ใช่มั้ย
ช่วยฉันดูหน่อยนะ
ไม่ละ
แต่ตาฉันอาจยังเป็นสีฟ้าไม่พอก็ได้นะ
เป็นสีฟ้าพอสำหรับอะไร
เป็นสีฟ้ามากพอสำหรับ... ฉันไม่รู้ ฟ้ามากพอสำหรับบางอย่าง
ฟ้ามากพอ... สำหรับเธอไง!
ฉันไม่เล่นกับเธอแล้ว
โธ่ อย่าทิ้งฉันไปนะ
ไม่ละ ฉันจะไป
ทำไมล่ะ เธอโกรธฉันเหรอ
ใช่
เพราะตาฉันยังเป็นสีฟ้าไม่พอใช่มั้ย เพราะฉันไม่ได้มีตาสีฟ้าที่สุด
เปล่า เพราะเธอทำตัวงี่เง่าต่างหาก
อย่าไปเลยนะ อย่าทิ้งฉันไป เธอจะกลับมามั้ยถ้าฉันเอามาได้
เอาอะไรมาได้
ดวงตาสีฟ้าที่สุดไง แล้วเธอจะกลับมาไหม
กลับมาแน่นอน ฉันไปแค่ประเดี๋ยวเดียวเท่านั้นเอง
เธอสัญญานะ
แน่นอน ฉันจะกลับมาอยู่ต่อหน้าต่อตาเธอเลย…"
The Bluest Eye หรือ ดวงตาสีฟ้าสุดฟ้า นวนิยายเรื่องแรกของนักเขียนแอฟริกันอเมริกัน โทนี มอร์ริสัน ตั้งคำถามสำคัญถึงความหมายของความงามที่ไม่อาจมีใครสรุปความด้วยมุมมองเพียงด้านเดียวได้ เด็กหญิงผิวดำ ตาดำ ผมดำ นามพีโคลา ปรารถนาดวงตาสีฟ้าด้วยคิดว่านั่นคือคุณลักษณะแห่งความสวยที่ทุกคนยอมรับและฝันใฝ่
ดวงตาสีฟ้าสุดฟ้า สะท้อนสภาวะการปฏิเสธอัตลักษณ์แห่งเผ่าพันธุ์ ความชิงชังตนเอง และการพยายามหลอมรวมเลือดเนื้อของตนให้เป็นส่วนหนึ่งในมาตรฐานอื่น ท่ามกลางม่านหมอกแห่งการหมิ่นหยาม การล่วงละเมิด ความอัตคัด ความหวัง และความสิ้นหวัง จนกลายเป็นนวนิยายทรงพลังของวงการวรรณกรรมโลก
โทนี มอร์ริสัน จบการศึกษาด้านวรรณคดีระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยฮาวเวิร์ด และระดับปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยคอร์แนล เคยเป็นบรรณาธิการสำนักพิมพ์แรนดอม เฮ้าส์ ได้รับเกียรติยศสูงสุดคือรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม เมื่อปี ค.ศ.1993
โทนี มอร์ริสัน เกิดเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1931 ที่รัฐโอไฮโอ ประเทศสหรัฐอเมริกา จบการศึกษาระดับปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยคอร์แนล ผ่านงานสอนในวงการวิชาการและเป็นสตรีผิวสีคนแรกที่ดำรงตำแหน่งบรรณาธิการแห่งสำนักพิมพ์แรนด้อม เฮ้าส์ Beloved (1987) คือเรื่องเล่าชาวทาสอันทรงพลังแห่งศตวรรษ ซึ่งพลิกโฉมประวัติศาสตร์กลวิธีการถ่ายทอดชะตาชีวิตและความรู้สึกนึกคิดของคนผิวสีภายใต้ระบบทาสของอเมริกาได้อย่างลึกซึ้งหลักแหลม ทำให้มอร์ริสันได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ประจำปี ค.ศ. 1988 ด้วยความเป็นเลิศทางวรรณศิลป์ และความมุ่งมั่นพยายามสร้างความเข้าใจเรื่องสิทธิแห่งความเท่าเทียมระหว่างมนุษย์ผ่านงานประพันธ์ ยังผลให้มอร์ริสันได้รับรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม ประจำปี ค.ศ. 1993 มอร์ริสันเสียชีวิตเมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2019 สิริอายุ 88 ปี ผลงานเล่มเด่นนอกจากนี้ ได้แก่ The Bluest Eye (1970) และ Song of Solomon (1977)
ห้องของโจวันนี
Giovanni’s Room
เจมส์ บอลด์วิน เขียน
โตมร ศุขปรีชา แปล
นันทพร ปีเลย์ โพธารามิก บรรณาธิการต้นฉบับ
สราญรัตน์ ไว้เกียรติ พิสูจน์อักษร
Wonderwhale ออกแบบปกและรูปเล่ม
ปกอ่อน จำนวน 228 หน้า ราคาปก 320 บาท
พิมพ์ครั้งที่สอง กุมภาพันธ์ 2567
ISBN 978-616-8343-02-9
…ห้องของเขาอยู่ด้านหลังชั้นล่างสุดของตึกหลังสุดท้ายบนถนนสายนี้ เราผ่านห้องด้านหน้าและลิฟต์เข้าไปสู่ทางเดินสั้นและมืดซึ่งนำไปยังห้องของเขา ห้องนั้นเล็ก ผมเห็นแค่เงาตะคุ่มของข้าวของระเกะระกะและความไม่เป็นระเบียบ มีกลิ่นแอลกอฮอล์ที่เขาเผาในเตา เขาล็อกประตูตามหลังเรา หลังจากนั้นครู่หนึ่งเราก็ได้แต่ยืนจ้องมองกันอยู่ในความสลัว—ด้วยความรู้สึกหวั่นหวาดระคนโล่งอก และลมหายใจหนักหน่วง ผมตัวสั่นเทา ผมคิดว่าถ้าเกิดไม่เปิดประตูบานนั้นออกไปจากที่นี่ทันทีละก็ ผมจะหลุดหลง แต่ผมรู้ว่าไม่สามารถเปิดประตูบานนั้นได้ ผมรู้ว่าสายเกินไปเสียแล้ว ในไม่ช้ามันจะสายเกินไปสำหรับทุกสิ่งทุกอย่างยกเว้นเสียงคราง เขาดึงผมเข้าไปชิด โถมกายเข้ามาในอ้อมแขนผมราวกับกำลังมอบตัวเองให้ผมโอบอุ้ม ก่อนจะค่อยๆ ดึงร่างผมลงไปบนเตียงหลังนั้นพร้อมกับเขา…
ห้องของโจวันนี สถานที่เปิดเปลือยอารมณ์และตัวตน สถานที่เก็บกักความร้าวรานและความหวัง สถานที่ซ่อนเสน่หาและสำแดงความภินท์พัง สถานที่ที่เป็นดังเกราะกำบังให้มนุษย์ผู้เปราะบางทุกตัวคน
ห้องของโจวันนี เล่าโดยเดวิด ชายอเมริกันผิวขาวที่มาใช้ชีวิตในปารีสระหว่างที่แฟนสาวเดินทางไปท่องเที่ยวสเปน เดวิดได้ไปพบโจวันนี บาร์เทนเดอร์หนุ่มน้อยชาวอิตาเลียนในบาร์แห่งหนึ่ง และมีความสัมพันธ์กันลึกซึ้งท่ามกลางบริบทของสังคมชาวเกย์ ทั้งรุ่นเล็กรุ่นใหญ่ ซึ่งความผูกพัน การได้ค้นพบตัวเอง การได้รู้จักหัวใจ และการได้สัมผัสความรู้สึกที่แท้จริงของตนเองของเดวิด รวมทั้ง 'ความอัคตัดขัดสน' ทำให้เกิดเรื่องราวซับซ้อนน่าเศร้าตามมาและนำไปสู่โศกนาฏกรรมที่ไม่มีใครอยากให้เกิด นวนิยายเรื่องที่สองของเจมส์ บอลด์วิน ซึ่งทำให้ชื่อเสียงเขาทะยานสู่ทำเนียบนักเขียนสมัยใหม่ที่ใช้ภาษาได้อย่างละเมียดละไม ถ่ายทอดอารมณ์เบื้องลึกของมนุษย์ที่ต้องปิดซ่อนแรงปรารถนาออกมาได้อย่างแจ่มชัด นับว่า ห้องของโจวันนี เป็นนวนิยายที่นำเสนอเรื่องราวของชาวเกย์ได้อย่างดีเยี่ยม ล้ำหน้านวนิยายเล่มไหนๆ มาตั้งแต่ปี 1956