สำนักพิมพ์ Library House ร้านหนังสือ Readery และ Doc Club Theater ร่วมกันจัดงานเสวนาเปิดตัวหนังสือ ออร์แลนโด: ชีวประวัติ หรือ Orlando: A Biography ผลงานอันโด่งดังของ Virginia Woolf ฉบับแปลภาษาไทย และชมภาพยนตร์เรื่อง Laurence Anyways เมื่อวันเสาร์ที่ 27 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา ณ Doc Club Theatre – Warehouse 30
เริ่มต้นงานด้วยการพูดคุยในหัวข้อเสวนาว่าด้วยอัตลักษณ์ เสรีภาพ และความเท่าเทียมทางเพศ ที่สะท้อนในนวนิยายชิ้นเอกของเวอร์จิเนีย วูล์ฟ กับวิทยากร 3 ท่าน ได้แก่ จุฑามาศ แอนเนียน (ผู้แปล), สุนันทา วรรณสินธ์ เบล (บรรณาธิการต้นฉบับ), ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ (ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard) ที่ช่วยเปิดมุมมอง ขยายความรู้ความเข้าใจต่อหนังสือและประเด็นของการเสวนาอย่างออกรส นอกจากนี้ยังได้ผู้ดำเนินรายการ คือ โอ๊ต มณเฑียร (ศิลปินร่วมสมัย นักเขียน และนักวาดภาพประกอบ) ที่นำพาบทสนทนาได้อย่างมีสีสันและเป็นกันเอง
ต่อจากนั้นเป็นการฉายภาพยนตร์ Laurence Anyways (2012) ภาพยนตร์โรแมนติกดราม่าจากประเทศแคนาดา ซึ่งเขียนบท ตัดต่อ และกำกับโดย Xavier Dolan และปิดท้ายงานด้วยการซักถามและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้ร่วมเสวนาที่เป็นไปอย่างสนุกสนาน
_________________________________________
Photo Credit: ร้านหนังสือ Readery
by Goethe-Institut Thailand
จิบชา ฟังบรรยาย และพูดคุยกับนักแปล บรรณาธิการ เจ้าของสำนักพิมพ์ และบุคลากรที่มีบทบาทและประสบการณ์ด้านการทำหนังสือวรรณกรรมแปล ในงาน จิบชาวันนักแปล (สากล) หรือ Hieronymustag (internationaler Übersetzertag) จัดโดย สถาบันเกอเธ่ กรุงเทพ เมื่อวันเสาร์ที่ 29 กันยายน 2561
เริ่มต้นด้วยการบรรยายหัวข้อ “การแปลวรรณกรรม(เยอรมัน)เป็นไทย ทำอย่างไรให้แปลได้ดี” โดย ศาสตราจารย์กิตติคุณถนอมนวล โอเจริญ อาจารย์ นักแปล อดีตผู้อำนวยการศูนย์แปลและล่ามเฉลิมพระเกียรติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเจ้าของรางวัลนักแปลดีเด่น (รางวัลสุรินทราชา) ปี 2017 ผู้แปลผลงานของนักเขียนคลาสสิกอย่าง โยฮันน์ โวล์ฟกัง ฟอน เกอเธ่ หรือฟรันซ์ คาฟคา เช่น จดหมายถึงพ่อ และอเมริคา ซึ่งจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ไลบรารี่ เฮ้าส์
จากนั้นเป็นช่วงจิบชาและสนทนายามบ่าย 1 กับการพูดคุยหัวข้อ “ช่วยอ่านสักนิด . . . (เพราะ...กว่าจะแปลได้ไม่ง่ายเลย)” กับ เจนจิรา เสรีโยธิน ผู้แปล และโปรดปราณ อรัญญิก บก.ต้นฉบับหนังสือ ช่วยอ่านสักนิด(นิยายวรรณกรรม) แปลจากต้นฉบับภาษาเยอรมัน Einen Blick werfen ของ Joachim Zelter ที่จัดพิมพ์โดย Bookmoby Press
ช่วงจิบชาและสนทนายามบ่าย 2 “อาชีพนักแปลไทย ใช่แค่ไหนสำหรับคุณ” พูดคุยกับสถาพร ฉันท์ประสูตร รักษาการนายก สมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทย รังสิมา ตันสกุล เจ้าของและบรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ Library House, Bookmoby Press และพรพิรุณ กิจสมเจตน์ บรรณาธิการและนักแปลภาษาญี่ปุ่น เจ้าของผลงานแปล สูญสิ้นความเป็นคน สำนักพิมพ์เจลิท
บรรยากาศสังสรรค์พูดคุยเป็นไปอย่างสนุกสนานและอบอุ่น ได้ทั้งสาระ ความรู้ ความเข้าใจบทบาทผู้ทำงานแปล และแนวคิดที่สร้างแรงบันดาลใจการทำงานการแปลมากมาย
_________________________________________
Photo Credit: Goethe-Institut Thailand และคุณโปรดปราณ อรัญญิก
จากซ้ายไปขวา
by Readery at The Reading Room
อีกครั้งที่ร้านหนังสือออนไลน์สุดเซ็กซี่ Readery จัดกิจกรรม Readrink บุ๊คคลับที่พานักอ่านมาร่วมพูดคุยถึงหนังสือ แบ่งปันประสบการณ์และความคิด พลางจิบเครื่องดื่มเร้าความรื่นรมย์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 20 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา ณ The Reading Room สีลมซอย 19
ในกรงแก้ว หรือ The Bell Jar นวนิยายเพียงเรื่องเดียวของซิลเวีย แพลท ที่ตีแผ่ความคิดจิตใจของผู้หญิงได้อย่างเจ็บปวดและลึกซึ้ง เรื่องราวชีวิตของหญิงสาวผู้เป็นดั่งดาวจรัสแสงที่ต้องมอดดับเพราะความขัดแย้งในจิตใจอย่างรุนแรง ซึ่งทำลายความอยากมีชีวิตอยู่ต่อในโลกใบนี้
เมื่อไดควีรี เครื่องดื่มจากในกรงแก้วอยู่ในมือผู้ร่วมงานทุกท่าน การพูดคุยก็เริ่มขึ้นโดย โจ วรรณพิน หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Readery เป็นผู้เปิดประเด็นพูดคุยกับแขกรับเชิญพิเศษ เจนจิรา เสรีโยธิน ผู้แปลในกรงแก้วฉบับภาษาไทย และบรรณาธิการของ Library House
จากหน้าปกผลมะเดื่อสวยงาม สู่เนื้อหาภายในที่แฝงนัยยะ และประเด็นที่แตกยอดออกไปมากมาย เช่น ตัวตนและความคิดของผู้หญิง กรอบเรื่องเพศ สภาพสังคมและการปลูกฝัง ครอบครัวและการเลี้ยงดู ความสัมพันธ์ ความรัก ความป่วยไข้ทางร่างกายและจิตใจ การแพทย์และทางเลือกในการเยียวยา ความตาย และสิทธิเหนือร่างกาย ฯลฯ ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องราวในหนังสือ แต่เรื่องราวชีวิตของผู้เขียนที่จากไปโดยการอัตวินิบาตกรรม ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้ เพราะนวนิยายเรื่องนี้คือเรื่องราวคู่ขนานกับชีวิตจริงของซิลเวีย แพลท
นับว่าการพูดคุยหนังสือครั้งนี้เป็นการคุยตัวบทนวนิยายและตัวตนผู้เขียน ที่ทำให้พวกเราได้ทบทวนคุณค่าของการอ่านและการใช้ชีวิตไปพร้อมกัน
Readrink #24 — “ในกรงแก้ว"
recorded by Reading Room Bangkok
สำนักพิมพ์ไลบรารี่ เฮ้าส์ และ สาขาวิชาภาษาและวรรณคดีอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกันจัดเสวนา THE HANDMAID'S TALK บทสนทนาว่าด้วยเรือนร่างของอำนาจและระบบการผลิตในวรรณกรรมแปล เรื่องเล่าของสาวรับใช้ วันเสาร์ที่ 24 มีนาคม 2561 เวลา 13.00-15.00 น. ณ ห้องโถงชั้น 1 ตึกคณะศิลปศาสตร์ มธ. ท่าพระจันทร์ โดยวิทยากรทั้ง 3 ท่านล้วนเป็นผู้มีความรู้และความสนใจด้านการแปล วรรณกรรมศึกษา สังคมศาสตร์ ได้แก่ คุณจุฑามาศ แอนเนียน ผู้แปลนวนิยาย The Handmaid's Tale,
คุณลักขณา ปันวิชัย นักเขียน นักแปล พิธีกร และคุณธาริตา อินทนาม อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาและวรรณคดีอังกฤษ มธ. ผู้เขียนบทความท้ายเล่มในเรื่องเล่าของสาวรับใช้ ดำเนินรายการเสวนาโดยคุณพัชราภรณ์ หนังสือ
เนื่องด้วยเรื่องเล่าของสาวรับใช้ หรือ The Handmaid's Tale เป็นหนังสือที่สะท้อนมุมมองต่อโลกในอนาคตที่ล่มสลาย เต็มไปด้วยประเด็นมากมายให้วิเคราะห์และศึกษา จึงทำให้ตลอดระยะเวลา 2 ชั่วโมงของการเสวนาเป็นไปอย่างเข้มข้น เผ็ดร้อน และสนุกสนาน ไม่ว่าจะเป็นด้านการแปล ซึ่งตัวนักแปลเองนั้นได้พูดคุยและอธิบายถึงวิธีการแปล การตีความเนื้อหา รวมไปถึงการขยายความศัพท์หรือเนื้อเรื่องบางตอนที่มีนัยยะซ่อนเร้น สร้างความประหลาดใจให้กับผู้ฟังเป็นอย่างมาก ส่วนการวิพากษ์ประเด็นต่างๆจากหนังสือ ทั้งเรื่องศาสนา ระบบการปกครอง สิทธิ อำนาจ ชนชั้น สังคม เพศ ปัจเจกบุคคล ฯลฯ วิทยากรแต่ละท่านต่างก็บรรยายอย่างออกรสและแตกประเด็นออกไปอย่างกว้างขวาง และช่วงการถาม-ตอบในตอนท้าย ผู้เข้าร่วมเสวนาหลายท่านมีประเด็นแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ เกิดบรรยากาศครึกครื้นด้วยการขับเคลื่อนทางความคิดและมุมมองจากหนังสือส่งต่อไปยังสังคมที่เราใช้ชีวิตอยู่
_________________________________________
Photo credit: Library House.