ลิงวุ่นวายกับชายในสวนฝรั่ง
(Hullabaloo in the Guava Orchard)
กิรัน เดไซ (Kiran Desei) เขียน
เจนจิรา เสรีโยธิน แปลจากภาษาอังกฤษ
สุภัควดี ทวีชัย พิสูจน์อักษร
the/eternal/summer ออกแบบปกและรูปเล่ม
ปกอ่อน จำนวน 240 หน้า
ราคาปก 290 บาท ISBN 978-616-8343-00-5
พิมพ์ครั้งแรก เมษายน 2546 โดยสำนักพิมพ์อิมเมจ ใช้ชื่อว่า ในสวนฝรั่ง
พิมพ์ครั้งที่สอง ปรับปรุงใหม่ ธันวาคม 2566
เกี่ยวกับหนังสือ
นวนิยายของนักเขียนหญิงเชื้อสายอินเดีย “กิรัน เดไซ”ซึ่งได้รับการตอบรับจากนักอ่านและนักวิจารณ์อย่างท่วมท้น รวมทั้งนักเขียนชื่อดังอย่างซัลมาน รัชดี เคยได้รับรางวัล Betty Trask Prize and Awards ซึ่งเป็นรางวัลสำหรับนวนิยายเล่มแรกของนักเขียนหน้าใหม่อายุไม่เกินสามสิบห้าปีและมีสัญชาติอยู่ในประเทศเครือจักรภพ นวนิยายเล่มนี้กล่าวถึงสัมพัทธ์ ชายผู้ไม่เอาไหนในสายตาของพ่อ มีชีวิตเหมือนถูกลิขิตไว้ให้ไปอยู่บนต้นฝรั่งกับเหล่าลิงจอมป่วนเมือง พฤติกรรมของสัมพัทธ์อาจดูประหลาด แต่เมื่อชาวเมืองเห็นความประหลาดเป็นความศักดิ์สิทธิ์ ถือคำของสัมพัทธ์เป็นดั่งคำสอนชี้นำทางสว่างแก่ชีวิต เรื่องราวโกลาหลวุ่นวายก็เกิดขึ้นในสวนฝรั่งแห่งนั้น รวมทั้งแผนการแยบยลของพ่อ รวมทั้งอานุภาพแห่งความรักขาดๆ เกินๆ ของคนในครอบครัว
นวนิยายเล่มนี้มีขนาดไม่ยาว แต่สามารถทิ้งปริศนาให้นักอ่านขบคิดหลายประการว่า สัมพัทธ์และฝูงลิงคือใคร ทำไมต้องเป็นสวนฝรั่ง และคำสอนสั่งของสัมพัทธ์นั้นเชื่อถือได้หรือไม่ ฯลฯ
โปรยปกหลัง
ชวนค้นหาความสัมพันธ์ระหว่างชายชื่อสัมพัทธ์กับต้นฝรั่งและฝูงลิง สัมผัสความโกลาหลอลหม่านเมื่อมีคนใช้ชีวิตแบบวานร ส่วนเหล่าวานรบุกเข้าไปในชุมชนของมนุษย์ ท่ามกลางกลิ่นเครื่องเทศหอมฟุ้งในอาหารคาวหวาน เสียงยวดยานพาหนะขวักไขว่ นวนิยายอินเดียเล่มนี้อาจเป็นบททดสอบทางจิตใจ เมื่อคุณอ่านและตีความได้ว่าความวุ่นวายที่มีตลอดเรื่องคือสิ่งใดกัน
ผู้หญิงกินได้ (THE EDIBLE WOMAN)
มาร์กาเร็ต แอ็ตวูด (Margaret Atwood) เขียน
นันทวัน เติมแสงสิริศักดิ์ แปล
สุนันทา วรรณสินธ์ เบล บรรณาธิการต้นฉบับ
ธีรโชติ จิวรเศรษฐ์กุล พิสูจน์อักษร
Wonderwhale ออกแบบปก
พิมพ์ครั้งแรก ธันวาคม 2566
จำนวน 406 หน้า
ปกอ่อนมีที่คั่น
ราคาปก 380 บาท
ปกแข็งสันโค้ง หุ้มแจ็คเก็ต ติดริบบิ้น
ราคาปก 580 บาท
โปรยปกหลัง
“ชีวิตอยู่ไม่ได้ด้วยหลักการ ชีวิตคือการปรับตัว”
แมเรียนมีอาชีพเป็นพนักงานบริษัททำหน้าที่ตระเวนส่งแบบสอบถามเพื่อสำรวจพฤติกรรมของผู้บริโภค ชีวิตประจำวันของเธอต้องพบเจอผู้คนหลากหลายและข้อมูลเกี่ยวกับการกินการใช้มากมายไม่หยุดหย่อน แต่แล้ววันหนึ่ง แมเรียนพบว่าตนเองมีอาการประหลาด เธอเริ่มปฎิเสธอาหาร เธอสับสน ตระหนก และถึงกับลนลานว่าของกินในจานจำพวกไข่ เนื้อ ฯลฯ กำลังมีปฏิสัมพันธ์กับเธอไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง วิถีการกินของแมเรียนเปลี่ยนไปและคงกลายเป็นปัญหาใหญ่จนยากต่อการแก้ไข หากแมเรียนไม่อาจสืบสาวให้เห็นปมได้ว่าเพราะเหตุใดเธอจึงกลายเป็นผู้หญิงที่ถูกกัดกินเช่นนี้
ผู้หญิงกินได้ (The Edible Woman) นวนิยายเล่มแรกของมาร์กาเร็ต แอ็ตวูด พิมพ์เมื่อปี ค.ศ. 1969 คือกระจกทางวรรณกรรมชิ้นสำคัญที่ช่วยสะท้อนภาพว่าผู้หญิงในยุคนั้นดำรงอยู่ในบทบาทไหน เป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจ เป็นฝ่ายโดนกระทำ หรือเป็นปัจเจกบุคคลที่พลิกผันสถานะได้หลายอย่าง ขึ้นอยู่กับเจตจำนงของตน สถานการณ์แวดล้อม และค่านิยมของยุคสมัยจะเอื้ออำนวย
เกี่ยวกับผู้เขียน
มาร์กาเร็ต แอ็ตวูด เกิดที่เมืองออตตาวา รัฐออนแทริโอ ประเทศแคนาดา ในปี 1939 ด้วยความที่เป็นลูกสาวของนักกีฏวิทยา เธอจึงใช้เวลากว่าครึ่งหนึ่งของช่วงวัยเด็กในป่าทางตอนเหนือของรัฐควิเบกก่อนจะย้ายไปอยู่ที่โทรอนโตตอนอายุเจ็ดขวบ แอ็ดวูดเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยโทรอนโตและหลังจากสำเร็จการศึกษาก็ไปเรียนต่อและจบปริญญาโทที่วิทยาลัยเรดคลิฟฟ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ ในปี 1962
แอ็ตวูดเป็นนักเขียนและกวีมีชื่อเสียงและเป็นที่นับถือมากที่สุดคนหนึ่งในประเทศแคนาดา เธอยังมีผลงานประเภทเรื่องสั้น บทความเชิงวิพากษ์ บทละคร บทวิทยุ และหนังสือสำหรับเด็กด้วย โดยผลงานต่างๆ เหล่านี้ถูกแปลเป็นภาษาอื่นๆ มากกว่าสามสิบภาษา ความเห็นและบทวิจารณ์ของเธอปรากฏในนิตยสารหัวดังๆ มากมายและเธอยังรับหน้าที่เป็นบรรณาธิการให้หนังสืออีกหลายเล่ม
อย่างไรก็ตาม มาร์กาเร็ต แอ็ดวูดเป็นที่รู้จักมากที่สุดจากนวนิยายของเธอ ซึ่งมักมีตัวละครหญิงที่แข็งแกร่งและมักมีความลึกลับ ทั้งยังมีลีลาการเล่าเรื่องแบบปลายเปิดอันเยี่ยมยอด นวนิยายเล่มแรกของเธอคือ The Edible Woman (1969) ซึ่งเป็นเรื่องของผู้หญิงที่กินอะไรไม่ได้และรู้สึกว่าตัวเองกำลังถูกกิน ผลงานเล่มต่อๆ มา ได้แก่ Surfacing (1973) Lady Oracle (1977) Life Before Man (1980) Bodily Harm (1982) The Handmaid's Tale (1986) นวนิยายโลกอนาคตที่เล่าถึงการต่อสู้เพื่อปลดแอกจากบทบาทหน้าที่ของตัวเองของผู้หญิงคนหนึ่ง Cat's Eye (1989) The Robber Bride (1993) Alias Grace (1996) The Blind Assassin (2000) และ Oryx and Crake (2003) โดยนวนิยายเหล่านี้ถูกเสนอชื่อให้เข้าชิงรางวัลทางวรรณกรรมและได้รับรางวัลมากมาย
นอกจากนั้น นวนิยายบางเรื่องยังถูกดัดแปลงเป็นละครเวทีและซีรี่ส์ทางจอแก้ว เช่น The Handmaid's Tale ถูกนำไปทำเป็นภาพยนตร์ในปี 1990 และทำเป็นละครโอเปร่า ในปี 2003 ก่อนจะถูกนำกลับมาทำเป็นซีรี่ส์ที่ได้รับความนิยมอย่างท่วมท้นซึ่งเผยแพร่ผ่านทาง Hulu ในปี 2017 ส่วน Alias Grace ก็ถูกนำไปทำเป็นซีรี่ส์เผยแพร่ทาง Netflix และได้รับความนิยมอย่างมากเช่นเดียวกัน
มาร์กาเร็ต แอ็ตวูด ได้รับเกียรติให้เข้าเป็นสมาชิกราชสมาคมแห่งแคนาดา และยังได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์และปริญญากิตติมศักดิ์อีกหลายใบ ปัจจุบันนี้ แอ็ตวูดอาศัยอยู่ที่โทรอนโต ประเทศแคนาดา
ติดบ้าน (Daheim)
ยูดิธ แฮร์มันน์ (Judith Hermann) เขียน
นันทนา อนันต์โกศล แปลจากภาษาเยอรมัน
ถนอมนวล โอเจริญ บรรณาธิการต้นฉบับ
สิริพร คดชาคร พิสูจน์อักษร
Wonderwhale ออกแบบปกและรูปเล่ม
ปกอ่อน จำนวน 160 หน้า ราคาปก 270 บาท ISBN 978-616-8123-97-3
พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2566
โปรยปกหลัง
“เขาชอบความว่างเปล่าของบ้านฉัน เขารู้สึกว่าความว่างเปล่าในบ้านฉันอบอุ่นอย่างน่าประหลาด นั่นคือสิ่งที่เขาพูด เขาไม่ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับกลอนประตูห้องนอนของฉัน และเขายังไม่พบสเปรย์พริกไทย ปืน และมีดพกใต้เตียง ฉันชอบเวลาเขามาค้างที่บ้าน รู้สึกดีที่ได้นอนหลับและไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว ไม่ต้องนอนลืมตาโพลงคอยเงี่ยหูฟังเสียงแห่งค่ำคืน เฝ้ารอบางสิ่งบางอย่าง เวลาที่อาริลท์มาค้างบ้านฉัน สัตว์ตัวนั้น ถ้ามันยังอยู่ในบ้าน มันจะซ่อนตัว และฉันก็หลับไปเหมือนก้อนหินจมดิ่งลงสู่ก้นบึง การนอนหลับพาฉันไป และวางฉันลงตรงส่วนที่ลึกที่สุด...“
นิยามของคำว่า ‘บ้าน’ นั้นหลากหลายเสมอ ‘การกลับบ้าน‘ ก็มีความหมายแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับเวลาและผู้คนที่เราพบพาน การกลับบ้านยังอาจหมายถึงการเดินทางสู่ตัวตนคนเดิมที่เคยสูญหายหรือกลายเป็นอื่นในบางห้วงของชีวิต
หลายครั้งที่การกลับบ้านคือการได้ทบทวนเวลาทั้งอดีตและอนาคต ทำความเข้าใจเรื่องราวที่ผ่านมาและการเตรียมพร้อมรับวันใหม่ การกลับบ้านยังอาจทำให้เรามีความสัมพันธ์เกินคาดหมาย ได้เห็นร่องรอยของความเอ่อล้น และได้รู้ซึ้งกับรูปรอยของความว่างเปล่า เหมือนกับตัวละครใน ติดบ้าน หรือ Daheim (2021) วรรณกรรมเยอรมันร่วมสมัยที่จะทำให้หัวใจวาบไหวด้วยสายลมแห่งการหวนคืน
เกี่ยวกับผู้เขียน
ยูดิท แฮร์มันน์ เกิดเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 1970 ที่เบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี จบการศึกษาด้านภาษาเยอรมันและปรัชญา มีประสบการณ์การฝึกงานกับสำนักพิมพ์ภาษาเยอรมันในนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือว่าเป็นสถานที่ที่ทำให้แฮร์มันน์ได้มีโอกาสพัฒนาทักษะการเขียน จนกลายเป็นนักเขียนเรื่องสั้น และนวนิยายร่วมสมัยที่มีชื่อเสียงโด่งดังคนหนึ่งของวงการวรรณกรรมเยอรมันร่วมสมัย Aller Liebe Anfang นวนิยายเรื่องแรกของแฮร์มันน์ ตีพิมพ์เมื่อปี 2014 ส่วน Dahiem (2021) เป็นผลงานที่ได้รับเลือกให้เป็นตัวบทหลักประจำปี 2021 ของโครงการ The Social Translating Project ของสถาบันเกอเธ่
อ่านรักวันโลกร้าว
(DER VORLESER หรือ THE READER)
แบร์นฮาร์ด ชลิงค์ (Bernhard Schlink) เขียน
เจนจิรา เสรีโยธิน แปล
โปรดปราณ อรัญญิก บรรณาธิการต้นฉบับ
สุภัควดี ทวีชัย พิสูจน์อักษร
Wonderwhale ออกแบบปกและรูปเล่ม
ปกอ่อน จำนวน 156 หน้า ราคาปก 270 บาท ISBN 978-616-8123-96-6
พิมพ์ครั้งแรก กันยายน 2566
โปรยปกหลัง
“ผมเป็นอะไรสำหรับเธอนะ เด็กอ่านหนังสือที่เธอหลอกใช้ เด็กคู่นอนที่เธอสนุกด้วย เธอจะส่งผมเข้าห้องรมแก๊สไหม ถ้าเธอไม่อาจทิ้งผมได้ ก็คงอยากกำจัดทิ้ง”
“ผมไม่รู้ว่ารวบรวมความกล้ามาจากไหนในการไปหาเฟราชมิทซ์ การขัดเกลาทางศีลธรรมเกิดขัดแย้งกับตัวเองประมาณหนึ่งหรืออย่างไร หากการมองด้วยความปรารถนาจะแย่พอๆ กับการตอบสนองความปรารถนา การตั้งใจจินตนาการอย่างขมีขมันไม่ต่างจากการลงมือทำอย่างที่จินตนาการไว้ แล้วทำไมจะไม่ตอบสนองและลงมือทำไปเลยเล่า ผมรู้สึกวันแล้ววันเล่าว่ามิอาจละความผิดบาปนี้ได้ ผมจึงลงมือทำบาปมันเสียเลย”
มิชาเอล แบร์ก หนุ่มแรกรุ่นวัยสิบห้าพบกับฮันนา ชมิทซ์ พนักงานตรวจตั๋วรถรางในวันที่โรคดีซ่านรุมเร้าเขาจนแทบเอาชีวิตไม่รอด และนั่นคือจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ลึกซึ้งของทั้งคู่ ความผูกพันก่อตัวและดำเนินไปแบบหน้าต่อหน้า บทต่อบท เหมือนหนังสือหลายเล่มที่มิชาเอลอ่านให้ฮันนาฟังก่อนร่วมรัก กระทั่งชะตาชีวิตพลิกผันให้ทั้งสองแยกจาก และกลับมาพบกันอีกครั้งในการไต่สวนคดีที่ฮันนาตกเป็นจำเลยโทษฐานที่ร่วมอยู่ในขบวนการพรรคนาซี และมิชาเอลคือนักศึกษากฎหมายที่เข้าไปร่วมสังเกตุการณ์ในศาล…
อ่านรักวันโลกร้าว หรือ DER VORLESER (1995) ชวนคุณอ่านหนังสือเพื่อไปสู่การอ่านความรู้สึก สู่การได้ตระหนักว่าบางเรื่องราวของชีวิต บางหลืบมุมของหัวใจนั้นคือตัวบทที่ยากจะขานไขหรือถอดรหัสจนอ่านออกได้ง่ายดายเหมือนเนื้อเรื่องในหนังสือ
เกี่ยวกับผู้เขียน
แบร์นฮาร์ด ชลิงค์ เกิดเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม ค.ศ. 1944 เป็นผู้พิพากษาและนักวิชาการทางกฎหมาย สอนหนังสือในมหาวิทยาลัยหลายแห่งในเยอรมนี เริ่มต้นอาชีพนักประพันธ์ด้วยนวนิยายแนวสืบสวนสอบสวน แต่ภายหลังลักษณะนวนิยายของชลิงค์ที่โดดเด่นและนิยมในหมู่นักอ่านคืองานเขียนที่แทรกข้อมูลทางประวัติศาสตร์ให้ผสานซึมไปในเนื้อเรื่องเล่าอย่างละเมียดละไม ผ่านการกลั่นกรองถ้อยคำสำนวนจนผู้อ่านสัมผัสอารมณ์และรู้สึกร่วมไปกับตัวละครได้อย่างง่ายดายราวกับตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน อ่านรักวันโลกร้าว หรือ DER VORLESER (1995) สร้างชื่อเสียงโด่งดังให้ชลิงค์ในระดับขีดสุด และยังได้รับการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ นอกจาก อ่านรักวันโลกร้าว นวนิยายของชลิงค์ที่แปลและจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ไลบรารี่ เฮ้าส์ คือ โอลก้า หรือ OLGA (2018)
บ้านตรงถนนมะม่วง
THE HOUSE ON MANGO STREET
ซันดรา ซิสเนโรส (Sandra Cisneros) เขียน
ปทุมจิต อธิคมกมลาศัย แปล
สุนันทา วรรณสินธ์ เบล บรรณาธิการต้นฉบับ
สิริพร คดชาคร พิสูจน์อักษร
the/eternal/summer ออกแบบปก
นิรมล ยาตพงศ์ ออกแบบรูปเล่ม
ปกอ่อน จำนวน 210 หน้า ราคาปก 280 บาท ISBN 978-616-8123-94-2
พิมพ์ครั้งแรก กันยายน 2566
โปรยปกหลัง
“สักวันเถอะ ฉันจะมีบ้านเป็นของตนเอง แต่ฉันจะไม่มีวันลืมกำพืดตัวเองเป็นอันขาด จะมีคนจรเดินผ่านมาแล้วถามว่าขอเข้ามาในบ้านได้ไหม และฉันจะชวนพวกเขามาอยู่ด้วยกันที่ห้องใต้หลังคา ฉันรู้ซึ้งดีว่าการไร้บ้านน่ะเป็นยังไง…”
บ้านตรงถนนมะม่วง เรื่องเล่าของเอสเปรันซา คอร์เดโร เด็กสาวเชื้อสายเม็กซิกัน ครอบครัวชนชั้นแรงงานของเธอย้ายถิ่นฐานมาตั้งรกรากในเมืองชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา เอสเปรันซามักตั้งคำถามกับสภาพความเป็นอยู่อันแสนอัตคัด สิ่งแวดล้อมที่ไม่เอื้อกับความหวัง และเฝ้ามองคนรอบข้างที่ไม่สามารถใฝ่ฝัน เพื่อนบ้านและญาติสนิทมิตรสหายดำเนินชีวิตแต่ละวันกันอย่างสามัญ ไม่มีแรงผลักดัน หลายคนไร้แรงบันดาลใจ… แต่สำหรับเอสเปรันซา “บ้าน” เป็นคำที่มีความหมายอย่างยิ่งต่อทุกชีวิต ต้องเป็นสถานที่ที่มั่นคงปลอดภัย เธอมักจดจำ บันทึกทุกอย่างแล้วเฝ้ามองออกไปนอกหน้าต่าง ด้วยหวังว่าเมื่อเติบโตขึ้นมา เธอจะได้เห็นว่ามีถนนหนทางดีๆ ข้างหน้า นำเธอไปสู่บ้านอันแสนอบอุ่นน่าภูมิใจ
เกี่ยวกับผู้เขียน
ซันดรา ซิสเนโรส เกิดเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม ค.ศ. 1954 ที่เมืองชิคาโก มลรัฐอิลลินอยส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา จบการศึกษาระดับปริญญาโทด้านการเขียนสร้างสรรค์จากมหาวิทยาลัยไอโอวาเมื่อปี ค.ศ. 1978 การที่ครอบครัวย้ายถิ่นฐานมาจากประเทศเม็กซิโก และการเป็นลูกสาวคนเดียวในหมู่พี่ชายน้องชายอีกหกคน ทำให้ซิสเนโรสสัมผัสความเป็นอื่นและตระหนักถึงความไม่ยึดโยงกับสิ่งหนึ่งสิ่งใด ความรู้สึกแปลกแยกแตกต่างเหล่านั้นแสดงผ่านงานเขียนอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน The House on Mango Street หรือ บ้านตรงถนนมะม่วง (1984) ซึ่งมียอดขายมากกว่าหกล้านเล่มนับตั้งแต่ตีพิมพ์ครั้งแรก ได้รับอนุญาตให้ใช้เป็นหนังสืออ่านนอกเวลาในสหรัฐอเมริกา ซิสเนโรสได้ชื่อว่าเป็นนักเขียนหญิงเชื้อสายเม็กซิกันรุ่นบุกเบิก ทำให้นักอ่านยุคสมัยใหม่ได้รู้จัก “Chicano Literature” ซึ่งเป็นลักษณะหนึ่งของวรรณกรรมของนักเขียนชาวอเมริกันผู้เติบโตขึ้นมาจากรากเหง้าของวัฒนธรรมแบบชาวเม็กซิโก
มาทาดอร์ที่รัก สู้และฝันถึงวันเปลี่ยนแปลง
TENGO MIEDO TORERO หรือ MY TENDER MATADOR
เปโดร เลเมเบล (Pedro Lemebel) เขียน
พัทธ์ธีรา หุตะโชค แปลจากภาษาสเปน
จันทรา ประมูลทรัพย์ บรรณาธิการต้นฉบับ
ธีรโชติ จิวรเศรษฐ์กุล พิสูจน์อักษร
มานิตา ส่งเสริม ออกแบบปกและรูปเล่ม
ปกอ่อน จำนวน 200 หน้า ราคาปก 300 บาท ISBN 978-616-8123-95-9
พิมพ์ครั้งแรก กันยายน 2566
โปรยปกหลัง
“ทุกครั้งที่การ์โลสหายไปจะมีหุบเหวลึกโผล่ขึ้นมากลางภาพตรงหน้านั้น หล่อนคิดทบทวนความเป็นจริงที่เขายังหนุ่มแน่น แต่หล่อนแก่ยับย่น เขาแสนหล่อเหลาผิดกับหล่อนที่เสื่อมโทรมลงตามวัย หนุ่มน้อยคนนั้นสมเป็นชายชาตรี ส่วนหล่อนป่วยทางเพศ มีความสะดีดสะดิ้งเสียจนอากาศรอบตัวยังส่งกลิ่นกะเทย แล้วจะให้หล่อนทำอย่างไรเล่า หากเขาทำให้หล่อนรู้สึกราวจะขาดใจเหมือนกับกระดาษใยไหมที่ห่อเหี่ยวเมื่อโดนลมหายใจชื้นของเขา จะให้หล่อนทำอย่างไรเล่า หากในชีวิตของหล่อนมักพบกับสิ่งต้องห้าม และถูกปิดกั้นด้วยคำว่าเป็นไปไม่ได้…”
ท่ามกลางเสียงเรียกร้องต้องการความชอบธรรมและบรรยากาศการต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการในชิลี หัวใจดวงเล็กๆ ของ ‘นางกระเทย’ คนหนึ่งกลับเต็มตื้นชุ่มชื่นไปด้วยความรักใคร่หลงใหลต่อ ‘การ์โลส’ หนุ่มนักศึกษา ผู้เข้ามาขอใช้พื้นที่ในห้องเล็กๆ ของหล่อนเพื่อเก็บกล่องกระดาษกับท่อเหล็กปริศนา และในบางครั้งบางครายังใช้เป็นที่นัดพบกับเพื่อนๆ
ความรักของนางกระเทยกับภารกิจลับของการ์โลสมีหลายสิ่งคล้ายกัน ไม่ว่าจะเป็นความปรารถนาอย่างรุนแรง ความมุ่นมั่น และความกล้าใฝ่ฝัน แม้หนทางที่นำไปสู่เป้าหมายสำคัญนั้นอาจต้องเดิมพันด้วยใจและกายของตัวเองก็ตาม
นวนิยายของนักเขียนชาวชิลี เปโดร เลเมเบล (1952-2015) ผู้เป็นทั้งควีนเพราะมีรสนิยมแบบชายรักชาย และเป็นควีนผู้เต็มไปด้วยพรสวรรค์แห่งการเขียนวรรณกรรมเชิงอุดมการณ์
เกี่ยวกับผู้เขียน
เปโดร เลเมเบล (1952 – 2015) นักแสดงละครและนักประพันธ์ชาวชิลีผู้ประกาศตัวว่าเป็นเกย์อย่างเปิดเผย มีบทบาทสำคัญต่อการเรียกร้องความเสมอภาคให้กับเพื่อนมนุษย์ผู้มีความหลากหลายทางเพศ และยังร่วมขับเคลื่อนสังคมให้ตระหนักถึงภัยคุกคามของรัฐบาลเผด็จการทหาร อาวุธสำคัญที่เลเมเบลใช้เพื่อต่อต้านอำนาจอยุติธรรมทั้งหลายคือความคิดสร้างสรรค์ หัวใจเด็ดเดี่ยวมุ่งมั่น ความรัก ศิลปะ และหนังสือ Tengo miedo torero หรือ มาทาดอร์ที่รัก สู้และฝันถึงวันเปลี่ยนแปลง ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 2001 ด้วยการสนับสนุนด้านเงินทุนจาก The National Fund for Cultural Development and the Arts แห่งประเทศชิลี เป็นหนังสือเล่มที่สี่แต่เป็นนวนิยายเพียงเล่มเดียวของเลเมเบล
ตุ๊กตาของโคคอชกา
A BONECA DE KOKOSCHAKA หรือ KOKOSCHAKA’S DOLL
อะฟงซู ครุช (Afonso Cruz) เขียน
เบญจรัศมี รุจน์รวีหิรัญ แปลจากภาษาโปรตุเกส
กอบชลี และ รังสิมา ตันสกุล บรรณาธิการต้นฉบับ
สุภัควดี ทวีชัย พิสูจน์อักษร
Wonderwhale ออกแบบปกและรูปเล่ม
ปกอ่อน จำนวน 221 หน้า ราคาปก 300 บาท ISBN 978-616-8123-93-5
พิมพ์ครั้งแรก มิถุนายน 2566
โปรยปกหลัง
“จิตรกรออสการ์ โคคอชกา ตกหลุมรักอัลมา มาห์เลอร์ หัวปักหัวปำมากเสียจนเมื่อความสัมพันธ์ระหว่างทั้งคู่สิ้นสุดลง เขาได้สั่งให้ประดิษฐ์ตุ๊กตาขนาดเท่าตัวจริงตามรายละเอียดทั้งหมดของคนรักขึ้นมา จดหมายถึงช่างประดิษฐ์ตุ๊กตาได้รวมรายละเอียดรอยพับรอยย่นบนผิวที่เขาคิดว่าขาดไม่ได้ไว้ และมีภาพวาดเส้นจำนวนมากกับคำสั่งในการผลิตแนบไปด้วย โคคอชกาผู้ไม่อาจซ่อนความรักใคร่ใหลหลงของตน เดินเล่นในเมืองกับตุ๊กตาและพามันไปชมอุปรากรด้วย แต่วันหนึ่งเมื่อเขารู้สึกเบื่อหน่ายมัน เขาก็เอาขวดไวน์แดงฟาดหัวตุ๊กตาและโยนทิ้งขยะ นับแต่บัดนั้น มันก็เริ่มมีบทบาทสำคัญสำหรับโชคชะตาชีวิตของผู้คนมากหน้าหลายตา…”
ตุ๊กตาของโคคอชกา เปรียบเสมือนเส้นโค้งในวงโคจรของหลายชีวิตที่ได้พบและจากกันด้วยเหตุปัจจัยนานัปการ ความสัมพันธ์ระยะใกล้และไกลของพวกเขาถูกถักร้อยด้วยเชือกยาวกลุ่มใหญ่ มิอาจดึงออกมาแล้วตัดแยกให้เห็นเป็นเพียงเชือกเส้นสั้นๆ มองเห็นง่าย เพราะความสัมพันธ์เหล่านั้นล้วนบรรจุรายละเอียดของแต่ละชีวิตไว้อย่างไม่ธรรมดา
ตุ๊กตาของโคคอชกา ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติของวงการวรรณกรรมยุโรป นั่นคือ The European Union Prize for Literature ประจำปี ค.ศ. 2012
เกี่ยวกับหนังสือ
รูปแบบการเขียน ตุ๊กตาของโคคอชกา มีองค์ประกอบของนวนิยายสมัยใหม่อย่างเด่นชัดมาก ซึ่งล้อไปกับภูมิหลังของเรื่องเกี่ยวกับสงครามที่ตัวละครต้องเผชิญกับความเดือดร้อน ความขาดแคลน ความอ้างว้าง และความโดดเดี่ยวอันเป็นผลกระทบจากสงคราม เนื้อเรื่องเริ่มที่ร้านขายนกซึ่งมีห้องลับอยู่ใต้พื้นไม้ และมีเด็กชายคนหนึ่งแอบมาใช้ชีวิตในนั้นอย่างยาวนาน สิ่งที่ทำได้ก็คือการส่งเสียงลอดผ่านขึ้นมาขอน้ำขออาหารจากเจ้าของร้านขายนก
คนเล่าพาเราไปรู้จักกับมหาเศรษฐีผู้มีลูกสาวสองคน แต่ทั้งสองคนออกจากบ้านไปชั่วนิรันดร์ เราได้รู้จักกับชายนักเขียน นักดนตรี ที่เดินทางดั้นด้นข้ามทวีปเพียงเพื่อจะย้อนกลับคืนสู่แผ่นดินเกิดเพื่อใช้ชีวิตต่ออย่างไม่มีจุดหมาย เราได้รู้จักการขโมยสินทรัพย์ทางปัญญาที่เรียกว่า “วรรณกรรม” โดยการฉกฉวยมาเป็นเจ้าของแล้วสวมรอยใส่ชื่อตัวเองเข้าไป แต่เมื่อหนังสือไม่ประสบผลสำเร็จ ต่อให้เขียนขึ้นใหม่เพื่อแก้เกี้ยวอย่างไร ผลลัพธ์ที่นักเขียนจอมแอบอ้างผู้นั้นได้ก็อยู่ในระดับเดิมอยู่ดี นอกจากนี้ยังมีเรื่องของตุ๊กตาดินที่ตัวละครคนหนึ่งเคยเล่นในวัยเด็ก และยังมีตุ๊กตาอีกตัวที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาด้วยแรงขับที่เรียกว่าความหลงใหลคลั่งไคล้ของชายหนุ่มผู้ไม่อาจพรากจากนางอันเป็นที่รัก
เสี้ยวส่วนเรื่องราวยิบย่อยเหล่านี้ดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องกัน เป็นเรื่องที่แตกต่าง มีลักษณะกระจัดกระจาย ทว่า ด้วยพรสวรรค์ของนักเขียนชาวโปรตุเกส อะฟงซู ครุช ที่ถนัดการผูกเรื่องแบบ embedded stories (เหมือนเรื่อง หนังสือที่กลืนกินคุณพ่อของผม เรื่องราวแสนพิลึกพิลั่นและมหัศจรรย์ของ วีวัลดู บงฟิง) ก็ทำให้ชิ้นส่วนชีวิตเหล่านี้เป็นเรื่องเดียวกัน ทุกชีวิตมีความเกี่ยวข้องกันในทางใดทางหนึ่ง หรือเวลาใดเวลาหนึ่ง เรื่องจริงกับวรรณกรรมหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวจนแยกไม่ออก เนื้อหนังของชีวิตและเนื้อแท้ของสิ่งประดิษฐ์ ถูกร้อยรวมกันจนยากจะบอกได้ว่าสิ่งใดเป็นสิ่งใด และท้ายที่สุด รูปแบบการเขียนที่เอาความกระจัดกระจายกอบก่อเป็นก้อนเดียวกันไว้เช่นนี้ จะเปิดทางให้ผู้อ่านได้ใคร่ครวญและมองเห็นสิ่งใหม่ๆ ได้ตระหนักถึงความหมายของคำว่า ‘ความเป็นไปได้’ มากมายขึ้นกว่าเดิม
เกี่ยวกับผู้เขียน
อะฟงซู ครุช (1971 - ปัจจุบัน) นักเขียน นักวาดภาพประกอบ และนักดนตรีชาวโปรตุเกส มีนวนิยายเล่มแรกตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ. 2008 และมีผลงานอื่นๆ ตามมาอีกมากมายราว 30 เล่ม ลักษณะเด่นในงานประพันธ์ของครุชคือการโยงเรื่องราวรอบตัวด้วยถ้อยคำเรียบง่าย ตรงไปตรงมา ผ่านเส้นเรื่องที่ผูกกับจินตนาการแสนลึกล้ำจนสร้างผลลัพธ์ทางอารมณ์ความรู้สึกอย่างน่าทึ่ง ครุชได้รับรางวัลทางวรรณกรรมมากมายทั้งในและต่างประเทศ A Boneca de Kokoschka หรือ ตุ๊กตาของโคคอชกา ได้รับ The European Union Prize for Literature ประจำปี ค.ศ. 2012 นอกจากงานประพันธ์ชิ้นนี้ ยังมี Os Livros que Devoraram o Meu Pai หรือ หนังสือที่กลืนกินคุณพ่อของผม เรื่องราวมหัศจรรย์ของวิวัลดู บงฟิง ที่เคยแปลและตีพิมพ์เป็นภาษาไทย
กา(กบาทสี)ชาด
KRASNY KREST หรือ RED CROSSES
ซาชา ฟีลีเปนกา (Sasha Filipenko) เขียน
ช้องนาง ปรีชาเจริญศิลป์ แปลจากภาษารัสเซีย
ณัฐชีวัน เมฆรัตนกุลพัฒน์ บรรณาธิการต้นฉบับ
สุภัควดี ทวีชัย พิสูจน์อักษร
มานิตา ส่งเสริม ออกแบบปกและรูปเล่ม
ปกอ่อน จำนวน 278 หน้า ราคาปก 350 บาท ISBN 978-616-8123-92-8
โปรยปกหลัง
ซาชาเพิ่งย้ายเข้ามาอยู่อพาร์ตเมนต์แห่งใหม่ เขาได้พบกับเพื่อนบ้านเป็นหญิงชราวัยเก้าสิบและป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์จนต้องเขียนกากบาทสีชาดบนบานประตูไว้ เพื่อเป็นเครื่องหมายบอกให้ตัวเองกลับเข้าบ้านถูก ซาชารับรู้ได้ว่าทาเทียนา อเล็กเซเยฟนา ไม่ใช่คนแก่เลอะเลือนทั่วไป เรื่องราวมากมายที่เธอยังจำได้และถ่ายทอดให้เขาฟังนั้นเป็นเสมือนประวัติศาสตร์สำคัญอีกหน้าหนึ่งจากยุคสงคราม…
ความทรงจำในวันที่ถูกพรากจากลูกสาวและสามี ความทรงจำจากคืนวันที่ถูกจองจำในค่ายแรงงานไม่เคยเลือนรางจางหาย กากบาทสีชาดที่ทาเทียนา อเล็กเซเยฟนา เขียนไว้ หากมองให้ลึกซึ้งย้อนอดีตกลับไป อาจเห็นเป็นสัญลักษณ์สื่อความหมายการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์อย่างไม่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย และอาจเห็นเป็นกางเขนไม้ ตัวแทนของผู้คนที่ล้มตายเพื่อแลกกับสันติภาพของโลกในอนาคตและปัจจุบัน
กา(กบาทสี)ชาด (2017) นวนิยายของซาชา ฟีลีเปนกา นักเขียนร่วมสมัยชาวเบลารุส
เกี่ยวกับผู้เขียน
ซาชา ฟีลีเปนกา (Sasha Filipenko) นักเขียน พิธีกรรายการโทรทัศน์ และนักกิจกรรมทางการเมืองชาวเบลารุส เชื้อสายยุเครน-รัสเซีย เกิดเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม ค.ศ. 1984 จบการศึกษาระดับปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ฟีลีเปนกาแสดงจุดยืนทางการเมืองผ่านนวนิยายจำนวนหกเรื่องและบทความอีกมากมาย ซึ่งแพร่หลายในหนังสือพิมพ์ต่างประเทศและมีการแปลไปมากกว่าสิบห้าภาษา ฟีลีเปนกาเคยเขียนจดหมายเปิดผนึกถึงประชาคมโลกหรือองค์กรระดับนานาชาติหลายแห่ง เช่น องค์การกาชาดโลกในกรณีที่ไม่ให้ความช่วยเหลือนักโทษทางการเมืองของเบลารุส ความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องจริงจังทำให้ฟีลีเปนกาต้องลี้ภัยไปอยู่ในยุโรปและงานเขียนของเขากลายเป็นวรรณกรรมต้องห้ามในประเทศของตนเอง
ความรักของนักท่องเวลา
THE TIME TRAVELER’S WIFE
ออดรีย์ นิฟเฟเนกเกอร์ (Audrey Niffenegger) เขียน
นันทวัน เติมแสงสิริศักดิ์ แปล
สุภัควดี ทวีชัย พิสูจน์อักษร
Mongol Navy ออกแบบปก
นิรมล ยาตพงศ์ ออกแบบรูปเล่ม
ปกอ่อน ราคาปก 580 บาท ISBN 978-616-8123-91-1
พิมพ์ครั้งที่สอง (ปรับปรุงใหม่) มีนาคม 2566 จำนวน 650 หน้า
โปรยปกหลัง
“บางทีฉันอาจกำลังฝันถึงเธออยู่
บางทีเธออาจกำลังฝันถึงฉัน
บางที่เราอาจมีตัวจนอยู่แต่เฉพาะในฝันของกันและกัน
แล้วทุกๆ เช้าพอตื่นขึ้นมา เราจะลืมเรื่องราวทั้งหมด…”
“สิ่งที่เจ็บปวดที่สุดก็คือไม่มีเธออีกต่อไป
ถ้ารู้ว่าเธอยังอยู่ที่ไหนสักแห่ง
ถึงแม้ฉันไม่สามารถเห็นเธอได้ ก็ยังดี…”
ความรักของนักท่องเวลา บอกเล่าการพบเจอ การพลัดพราก การจากหาย และการย้อนมาพบกันใหม่วนเวียนร่ำไปราวกับไม่มีจุดจบสิ้น
เส้นทางชีวิตของเฮนรีกับแคลร์มาบรรจบกันอย่างอัศจรรย์ เขาประทับจูบและทิ้งรอยสัมผัสรักอันแสนดื่มด่ำไว้ในหัวใจของหญิงสาว แต่แล้วก็ปล่อยให้เธอรอคอยเขาครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อที่จะได้กลับมาเจอกันอีกเพียงชั่วคราว ตราบจนธรรมชาติของเวลากับโชคชะตานำพาให้พบและจากจร
ความรักและเวลา คือสองสิ่งที่มีค่าสำหรับคนสองคน
เกี่ยวกับผู้เขียน
ออดรีย์ นิฟเฟเนกเกอร์ เกิดเดือนมิถุนายน ปี 1963 ที่เมืองเซาท์เฮเวน มลรัฐมิชิแกน แต่เติบโตที่เมืองอีแวนส์ตัน ชานเมืองทางเหนือของชิคาโก มลรัฐอิลลินอยส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา The Time Traveler’s Wife หรือ ความรักของนักท่องเวลา เป็นนิยายเรื่องแรกของเธอ ติดอันดับขายดีของ นิวยอร์ก ไทมส์ และกลายเป็นหนังสือในดวงใจของคนทั่วโลกอย่างรวดเร็ว นิฟเฟเนกเกอร์ อุทิศนิยายเรื่องนี้ให้คุณตากับคุณยาย ผู้มีชีวิตคู่เปี่ยมด้วยความรักและความผูกพัน แต่วันหนึ่งคุณตาเสียชีวิตกะทันหันเนื่องจากเนื้องอกในสมอง คุณยายจึงต้องใช้ชีวิตอีกสามสิบปีเพียงลำพัง เรื่องราวของคุณตาคุณยายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธออยากเขียนนิยายเกี่ยวกับการรอคอย และชีวิตคู่ของคนสองคนที่รักกันอย่างลึกซึ้ง แม้มีอุปสรรคเหนือการควบคุม
เลือดสีม่วง
THE COLOR PURPLE
อลิซ วอล์เกอร์ (Alice Walker) เขียน
ไอริสา ชั้นศิริ แปล
นลัท ตั้งพรพิพัฒน์ และ สุนันทา วรรณสินธ์ เบล บรรณาธิการต้นฉบับ
ธีรโชติ จิวรเศรษฐ์กุล พิสูจน์อักษร
Wonderwhale ออกแบบปกและรูปเล่ม
ปกอ่อน ราคาปก 320 บาท ISBN 978-616-8123-90-4
พิมพ์ครั้งแรก กุมภาพันธ์ 2566 จำนวน 260 หน้า
โปรยปกหลัง
ซีเลียต้องแต่งงานกับผู้ชายที่ไม่ได้รัก และเขาก็ไม่ได้รักเธอ
ต้องพรากจากน้องสาวโดยไม่รู้ว่าจะพบหน้ากันอีกเมื่อไร
ต้องผ่านความสับสน ผ่านช่วงเวลาแห่งการปิดบังเลือดสีม่วงในหัวใจ
เธอคือผู้หญิงคนหนึ่งที่ต้องเผชิญกับความเชื่อและไม่เชื่ออันแสนเลวร้าย
ต่อพระเจ้า ต่อธรรมชาติของมนุษย์ โดยมีถ้อยคำแห่งความหวัง ความอ่อนโยน
การปลอบประโลมคอยช่วยประคับประคองและเยียวยา
เลือดสีม่วง ภาพสะท้อนความงดงามของวงศ์วานว่านเครือ
ที่ไม่อาจตัดสาแหรกให้ขาดจากกันได้ ไม่ว่าพี่น้องลูกหลานจะย้ายถิ่นฐานไปยังหนไหน
นวนิยายเล่มนี้คือนิยามของความเอื้ออาทร ความเข้าอกเข้าใจ
และที่สำคัญยิ่งคือ การให้อภัยของมนุษย์ที่มีเทือกเถาเหล่ากอจากดินผืนเดียวกัน
The Color Purple นวนิยายรางวัลพูลิตเซอร์ ประจำปี ค.ศ. 1983
เกี่ยวกับผู้เขียน
อลิซ วอล์เกอร์ เกิดเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1944 ที่รัฐจอร์เจีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นนักเขียนผิวสีคนแรกที่ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ จากนวนิยายเรื่อง The Color Purple เมื่อปี ค.ศ. 1982 วอล์เกอร์ผ่านมรสุมชีวิตมากมายตั้งแต่วัยเยาว์และวัยสาว ทั้งอุบัติเหตุที่ทำให้ตาบอดหนึ่งข้าง การโดนกีดกันทางการศึกษาด้วยเหตุจากการเหยียดสีผิว และการเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่ต้องตัดสินใจทำแท้ง แต่อุปสรรคสาหัสหรือรอยแผลฉกรรจ์เหล่านี้กลับกลายเป็นแรงขับดันให้วอล์เกอร์กลายเป็นผู้หญิงที่มีพลังมหาศาลในกาลต่อมา เธอกลายเป็นนักเขียนและนักเคลื่อนไหวที่ต่อสู้เคียงข้างคนยากไร้และคนชายขอบในสังคม ด้วยความมุ่งมั่นศรัทธาว่าจิตวิญญาณของปัจเจกชนสามารถเติบโตผลิบานและกลายเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาโลกที่เราอยู่ร่วมกันได้อย่างเท่าเทียม
Official website: www.alicewalkersgarden.com
ปิราเนซิ
PIRANESI
ซูซานน่า คลาร์ก (Susanna Clarke) เขียน
นพเก้า ลีละศร แปล
สุนันทา วรรณสินธ์ เบล บรรณาธิการต้นฉบับ
ธีรโชติ จิวรเศรษฐ์กุล พิสูจน์อักษร
มานิตา ส่งเสริม ออกแบบปกและรูปเล่ม
ปกอ่อน ราคาปก 320 บาท ISBN 978-616-8123-89-8
พิมพ์ครั้งแรก ธันวาคม 2565 จำนวน 244 หน้า
โปรยปกหลัง
“ตั้งแต่โลกใบนี้ถือกำเนิดขึ้นมา เป็นที่รู้แน่นอนว่ามีคนอยู่บนโลกสิบห้าคนและเป็นไปได้ว่าอาจจะมีมากกว่านั้น แต่ผมคือนักวิทยาศาสตร์และผมต้องทำตามกระบวนการโดยขึ้นอยู่กับหลักฐาน ปัจจุบันมีเพียงผมและอื่นอีกเท่านั้นที่ยังมีชีวิตอยู่จากทั้งหมดสิบห้าคนที่ยืนยันได้ว่ามีตัวตนอยู่จริง”
ปิราเนซิอาศัยอยู่ในสถานที่แห่งหนึ่งซึ่งเรียกว่าบ้าน บ้านที่มีอาณาบริเวณกว้างใหญ่ไพศาล เต็มไปด้วยห้องโถงขนาดมโหฬาร มีรูปปั้นน้อยใหญ่มากมาย ทั้งยังมีกระแสน้ำสาดซัดเข้ามาได้จากทุกสารทิศ
‘ปิราเนซิ’ คือชื่อที่ถูกคนอื่นเรียกขาน เขานิยามตนว่าเป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้เชื่อเหตุผลและพยานหลักฐาน แต่ในบ้านแห่งนี้กลับมีความน่าพิศวงหลายประการ และเมื่อความจริงเปิดเผย ปิราเนซิอาจไม่สามารถยอมรับหรือเข้าใจ
ปิราเนซิ นวนิยายแฟนตาซี ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2020 ได้รับรางวัล The Women's Prize for Fiction ประจำปี 2021
เกี่ยวกับผู้เขียน
ซูซานน่า คลาร์ก เกิดเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 1959 สำเร็จการศึกษาทางปรัชญาการเมืองและเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด คลาร์กเคยทำงานสอนภาษาที่ประเทศอิตาลีและประเทศสเปน และมีประสบการณ์ทำงานในวงการสิ่งพิมพ์หลายปี นวนิยายเล่มแรกของเธอ Jonathan Strange & Mr Norrell (2004) ได้รับรางวัลทางวรรณกรรมมากมาย ส่วน Piranesi (2020) เล่มนี้เป็นนวนิยายเล่มที่สอง ทิ้งช่วงการพิมพ์จากเล่มแรกถึงสิบหกปีและประเดิมด้วยรางวัลชนะเลิศเวที The Women's Prize for Fiction ประจำปี 2021
Die Liebe im Ernstfall
ดานีเอลา ครีน เขียน
ปิยะกัลย์ สินประเสริฐ แปล
ถนอมนวล โอเจริญ บรรณาธิการต้นฉบับ
สุภัควดี ทวีชัย พิสูจน์อักษร
Mongol Navy ออกแบบปก
Wonderwhale ออกแบบรูปเล่ม
พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2564
ปกอ่อน จำนวน 272 หน้า ราคาปก 320 บาท
ISBN 978-616-8123-51-5
ความรักของเรา คงมีหลายส่วนที่คล้ายคลึงกับความรักของผู้หญิงทั้งห้าคนนี้ — เพาลา ยูดิท บรีดา มาลีกา โยรินเดอ — ความรักของพวกเธอเชื่อมโยงกับความเสียสละ บางคราวก็โลดแล่นไปพร้อมกับทิฐิอยากเอาชนะ ถ่ายเทความรู้สึกร้อนแรง ซุกซน ลับเร้นอยู่หลังม่านของความลับ และบางครั้งก็เป็นความรักสิ้นหวังแต่ยังมีหวังตลอดเวลา
ความรักของเรา ดำเนินอย่างรวดเร็วทั้งยังเชื่องช้า ผ่านห้วงนาทีแห่งเสียงหัวเราะและน้ำตา ซึ่งมีเราเท่านั้นที่สามารถปลอบประโลมตน
เพราะความรักมิอาจเร่งร้อน จงประคับประคองและรักษาจังหวะเต้นของหัวใจ เพื่อให้ความรักของเราไม่เลือนลับสูญสลาย จนชีวิตกลับกลายเป็นฤดูใบไม้ร่วงนานนับกัปกัลป์
Die Liebe im Ernstfall หรือ เพราะความรักมิอาจเร่งร้อน ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. 2019 จากนั้นก็ได้ขึ้นชาร์ตหนังสือน่าจับตามองและหนังสือขายดีในกลุ่มประเทศที่ใช้ภาษาเยอรมัน ก่อนจะเปิดตัวในตลาดสากล ขายลิขสิทธิ์ได้ 18 ภาษา รวมทั้งภาษาไทย ฉบับแปลภาษาอังกฤษมีชื่อว่า Love in Five Acts และ Love in Case of Emergency บอกเล่าชีวิตของผู้หญิงวัยทำงานและแม่บ้าน 5 คนที่มีบางมิติของชีวิตต้องเชื่อมโยงกัน มีความรักเหมือนกัน แต่ต่างรูปแบบ นวนิยายพาเราสำรวจรูปแบบความรักทั้ง 5 ด้วยการแบ่งเป็น 5 บท (เพาลา, ยูดิท, บรีดา, มาลีกา, โยรินเดอ) พาเราละเอียดกับอารมณ์ความรู้สึกของผู้หญิงที่ติดตาข่ายของความต้องการ ความหวังและความผิดหวัง และพาเราหาทางออกให้กับพวกเธอ
ดานีเอลา ครีน เกิดเมื่อ ค.ศ.1975 จบการศึกษาด้านสื่อสารมวลชนและวัฒนธรรมศึกษาจากเมืองไลฟ์ซิก สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ครีนเริ่มต้นเส้นทางการประพันธ์ด้วยอาชีพนักเขียนอิสระตั้งแต่ปี ค.ศ.2010 นวนิยายเรื่องแรก Irgendwann werden wir uns alles erzählen หรือ สักวันเราจะเล่าให้กันและกันฟัง ซึ่งตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ. 2011 ได้รับการต้อนรับอย่างล้นหลามทั้งในเยอรมนีและต่างประเทศ เช่นเดียวกับ Die Liebe im Ernstfall (เพราะความรักมิอาจเร่งร้อน) ที่ได้รับเสียงชื่นชมจากนักอ่านจำนวนมาก และกลายเป็นนวนิยายเยอรมันร่วมสมัยติดอันดับขายดียาวนานนับตั้งแต่พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 2019
*หนังสือเล่มนี้ได้รับทุนสนับสนุนการแปลจากสถาบันเกอเธ่ มิวนิค และ กรุงเทพ*
Tropic of Cancer
เฮนรี มิลเลอร์ เขียน
นันทพร ปีเลย์ โพธารามิก แปล
สุนันทา วรรณสินธ์ เบล บรรณาธิการต้นฉบับ
นิชานันท์ นันทศิริศรณ์ และ อาทิตยา เตชพรรุ่ง พิสูจน์อักษร
wrongdesign ออกแบบปก
นิกม์ จินตวร ออกแบบรูปเล่ม
พิมพ์ครั้งแรก กุมภาพันธ์ 2564
ปกอ่อน จำนวน 406 หน้า ราคาปก 440 บาท
ISBN 978-616-8123-48-5
หากปารีสคือดวงตะวันอันเจิดจ้า ห้วงเวลานั้นคือเป้าหมายสำคัญของจิตวิญญาณเสรีที่ต้องการอาบแสงแห่งความหวัง ความเรืองรอง ความรุ่งโรจน์ แต่ถ้าปารีสคือรัตติกาลที่ท้องฟ้าเต็มไปด้วยเดือนดับ โมงยามนั้นคือความอัปลักษณํ กักขฬะ ชั่วช้า และโสมม
ไม่ว่าปารีสจะรุ่มรวยด้วยศิลปะหรือเกลื่อนกล่นด้วยโลกียวิสัยและอาชญากรรม เมืองแห่งนี้ก็เต็มไปด้วยซอกหลืบที่พร้อมจะเปิดอ้าให้จิตวิญญาณเสรีเหล่านั้นเดินเข้ามาและหลงวนลึกถลำ เฉกเช่น ‘เฮนรี มิลเลอร์’ นักเขียนชาวอเมริกันผู้เดินทางจากบ้านเกิด มุ่งหน้ามาใช้ชีวิตด้วยความปรารถนาว่าจะให้ที่นี่เป็นมาตุภูมิแห่งงานประพันธ์และชีวิตใหม่ของตน
ทรอปิค ออฟ แคนเซอร์ คือบทบันทึกเส้นทางสุดโต่งเหนือชั้นของนักเขียนผู้เดินท่องหมุนเวียนเป็นเส้นโคจรรอบโลกวรรณกรรมและการวิจารณ์ ตีพิมพ์ครั้งแรก ค.ศ. 1934 เคยเป็นหนังสือต้องห้ามราว 30 ปี ก่อนจะได้ปลดแอกและขึ้นทำเนียบเป็นวรรณกรรมเรื่องเยี่ยมแห่งศตวรรษที่ 20 ในเวลาต่อมา
Tropic of Cancer หรือ ทรอปิค ออฟ แคนเซอร์ เป็นวรรณกรรมเชิงวิพากษ์สังคมโดยเฉพาะสังคมแห่งศิลปะและการแสวงหาเช่น กรุงปารีส แห่งประเทศฝรั่งเศส นักเขียนชาวอเมริกัน เฮนรี มิลเลอร์ เป็นหนึ่งในบรรดานักเขียนที่อพยพย้ายถิ่นฐานเข้ามาอาศัยในมหานครแห่งนี้ด้วยหวังว่าจะให้เป็นเมืองแห่งการบ่มเพราะผลงานและได้มีชีวิตแบบได้ใช้ชีวิตโดยแท้จริง แต่ปารีสในสายตาของศิลปินมักไม่ได้เห็นเพียงด้านสวยงาม มิลเลอร์จึง ‘ให้ภาพ’ ปารีสในสายตาของเขาผ่านวรรณกรรมด้วยนวนิยายเล่มนี้ ซึ่งเต็มไปด้วยภาพ เสียง กลิ่น สี อุณหภูมิที่ระอุอวลด้วยพลังงานของโลกียวิสัย ความโลภ ความฉ้อฉล และการปล่อยตัวระเริงใจไปกับความทะยานอยากถึงสิ่งต่างๆ รอบตัว เรื่องราวของนักเขียนหนุ่มที่เผชิญโชคชะตาทั้งด้านบวกและลบในปารีส จ้องหน้ากับความจนและการเอาตัวรอดใน Tropic of Cancer สะท้อนชีวิตจริงแง่มุมต่างๆ ของมิลเลอร์เอง ภาษาเรื่องเล่าจึงร้อนแรงไหลเร็ว ลักษณะตัวละครมีความสุดโต่ง บ้าบิ่น มีฉากสังวาสและพรรณาโวหารที่ชวนคลื่นเหียน บางคนอาจมองว่า Tropic of Caner เป็นงานวรรณกรรมรสอุจาดเหมือนชมอาจม ซึ่งครั้งหนึ่งนวนิยายเล่มนี้ก็เคยเป็นหนังสือต้องห้ามอยู่ถึง 30 ปี แต่ท้ายที่สุดถึงวันนี้ ความรุ่มรวยทางวรรณศิลป์ อัจฉริยภาพของศิลปิน แก่นแท้ความจริงที่ไม่อาจกลบทับ ก็ทำให้นวนิยายเล่มนี้กลับมาผงาด และได้ชื่อว่าเป็นวรรณกรรมเรื่องเยี่ยมเรื่องหนึ่งแห่งศตวรรษที่ 20
เฮนรี มิลเลอร์ (1891-1980) นักเขียนนวนิยายชาวอเมริกัน เกิดที่นครนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา รูปแบบการเขียนของมิลเลอร์มีความโดดเด่นเรื่องการใช้กระแสสำนึกเพื่อบอกเล่าความรู้สึกของตัวละครและยังผสมผสานเป็นเนื้อเดียวกับความคิดนึกของผู้เขียน มีฉากหลังเป็นนิวยอร์คและปารีส ซึ่งเป็นสองมหานครที่มิลเลอร์ได้ใช้ชีวิตอยู่ นวนิยายเกือบทั้งหมดมีเนื้อหาส่อเสียดสังคมและท้าทายกรอบศีลธรรมแห่งยุคสมัยด้วยเรื่องเพศและการสมสู่จนกลายเป็นวรรณกรรมต้องห้ามนานหลายสิบปี ผลงานโด่งดังและควรค่าแก่การทำความรู้จัก นอกจาก Tropic of Cancer (1934) คือ Black Spring (1936) และ Tropic of Capricorn (1939)
Wuthering Height
เอมิลี บรองเต้ เขียน
ปทุมจิต อธิคมกมลาศัย แปล
สุนันทา วรรณสินธ์ เบล บรรณาธิการต้นฉบับ
จินดารัตน์ ธรรมรงวุทย์ พิสูจน์อักษร
มานิตา ส่งเสริม ออกแบบปกและรูปเล่ม
พิมพ์ครั้งแรก มกราคม 2564
ปกอ่อน จำนวน 374 หน้า ราคาปก 390 บาท (มีสายคาด)
ISBN 978-616-8123-47-8
วุธเธอริง ไฮตส์ เรื่องราวความรักระหว่างฮีธคลิฟฟ์กับแคทเธอรีน เอิร์นชอว์ แห่งคฤหาสน์ “วุธเธอริง ไฮตส์” ไม่อาจมีสิ่งใดพรากทั้งสองจากกันได้ แม้คืนวันเนิ่นนานผันผ่าน สายลมจะกระโชกแรง สายฝนสาดซัดกระหน่ำ หิมะเหน็บหนาว ดินแล้งแตกระแหงชวนเจ็บช้ำ หรือกระทั่งความตายมากรายกล้ำ ทั้งคู่ยังผูกพันดุจวิญญาณดวงเดียวกันมิวางวาย “วุธเธอริง ไฮตส์” ปฐมภูมิแห่งความรักรุนแรง ความลุ่มหลง แรงแค้น และกำเนิดของปีศาจที่ซ่อนอยู่ในมุมมืดของหัวใจมนุษย์ เพชรน้ำเอกแห่งวรรณคดีอังกฤษ งานประพันธ์เพียงเรื่องเดียวของเอมิลี บรองเต้ ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1847
เอมิลี บรองเต้ เกิดในมณฑลยอร์กเชอร์ซึ่งเป็นที่ราบสูงทางตอนเหนือของอังกฤษ ภูมิทัศน์ที่มีภูเขาสลับซับซ้อน อากาศหนาวเหน็บและกระแสลมแปรปรวน ได้ส่งอิทธิพลต่อภาษาที่รังสรรค์ Wuthering Heights (1847) งานประพันธ์เพียงเล่มเดียวของเธอเป็นอย่างมาก บุคลิก การแสดงออก ถ้อยคำวาจาของตัวละครที่ปรากฏในนวนิยายเล่มนี้จึงมีลักษณะวูบไหว โหดร้าย รุนแรง ลึกลับ ประเมินการณ์ได้ยาก แต่เหนือสิ่งอื่นใด ทุกคนถือมั่นกับความรักและมีความสัตย์ต่อหัวใจตนจนมิอาจปฏิเสธได้ นับเป็นนวนิยายล้ำค่าแห่งอังกฤษที่ผ่านกาลเวลามาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 จนกลายเป็นมรดกทางวรรณกรรมที่สำคัญยิ่งอีกชิ้นหนึ่งของโลก